วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้

การจัดการกับความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ให้ผู้คนที่มีความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ บนหลักการของความเท่าเทียม มีสิทธิในการดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของกลุ่มตน ซึ่งการได้รับสิทธิดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนสำคัญหนึ่งของประชาธิปไตย

จึงกล่าวได้ว่า พหุวัฒนธรรมนิยมมีความเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยอย่างแนบแน่น หรือพหุวัฒนธรรมนิยมเป็นแนวคิดที่เรียกร้องและส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง หากพิจารณาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ยอมรับในวิถีการดำเนินชีวิตแบบพหุวัฒนธรรมตลอดมาและในอดีตประชาชนก็อยู่ร่วมกันในสังคมแบบพหุวัฒนธรรมแบบสันติสุข

ภาพของการอยู่ร่วมกันในชุมชน กิจกรรมต่างๆ คนไทยพุทธก็มีไทยมุสลิมก็เข้าร่วมในกิจกรรม กรณีกิจกรรมคนไทยมุสลิมก็มีคนไทยพุทธ ก็เข้าร่วมกิจกรรมเป็นเรื่องปกติในพื้นที่

ดังนั้น การลอบฆ่าอิหม่าม การลอบฆ่าพระในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากสถานการณ์เบาบางไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นการส่งสัญญาณของผู้ก่อความไม่สงบเรียบร้อยให้เห็นว่า เค้าต้องการเรียกร้องอะไรบางอย่าง เพราะการก่อความไม่สงบเรียบร้อยในเหตุการณ์ที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มคน ซึ่งมีการวางแผนมีการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ส่งผลเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความหวาดกลัว เกิดความปั่นปวน และเกิดความเกลียดชังกันในกลุ่มชนที่มีความแตกต่างในส่วนของอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรม ในทางกฎหมาย คือ ฐานความผิดก่อการร้ายนั้นเอง

ในส่วนของอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรม พิจารณาออกเป็นสองส่วน คือ วัฒนธรรมที่มีรูปร่างตัวตน เรียกว่า วัฒนธรรมทางวัตถุ (material culture) และวัฒนธรรมที่ไม่มีรูปร่างตัวตนและเป็นนามธรรม เรียกว่า วัฒนธรรมที่ไม่มีรูปร่างตัวตน หรือวัฒนธรรมทางด้านจิตใจ (non material culture)

วัฒนธรรมทางวัตถุ (material culture) การธำรงอัตลักษณ์วัฒนธรรมทางวัตถุนั้นจะปรากฏเด่นชัดในงานสถาปัตยกรรม ชาวไทยมุสลิม มิสยิด สุเหล่า

ส่วนชาวไทยพุทธ อุโบสถ วิหาร พระพุทธรูป และวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ หรือวัฒนธรรมทางจิตใจ (non material culture) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวไทยมุสลิมนับถือ คือ อิหม่าม ส่วนชาวไทยพุทธนับถือ คือ พระภิกษุ

วิถีไทยมุสลิมเป็นวิถีที่ยึดโยงกับแก่นของอิสลามสามประการ อันได้แก่หลักศรัทธา หลักศาสนบัญญัติ ตลอดจนหลักคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ต้องทำความเข้าใจ

วิถีไทยพุทธเป็นวิถีที่ยึดโยงกับประเพณี คติความเชื่อ ค่านิยมความคิดความเชื่อทั้งในส่วนประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

ที่ผ่านมา ภาครัฐก็ทุ่มเทกับพื้นที่จังหวัดแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก ในหลายๆ ด้าน แม้ภาครัฐเองจะมีเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยคือกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายความมั่นคง แต่ก็ไม่ได้ใช้อำนาจอย่างเต็มที่เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเดือดร้อน ใช้ชีวิตไม่สะดวก และมีการใช้นโยบายเชิงการพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ ที่ประชาชนในพื้นที่เกิดความรู้สึกถูกกดทับมาเช่นอดีต สิทธิต่างๆ ในพื้นที่กลับได้รับมากกว่าพื้นที่อื่นๆ

แต่มีเพียงกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มเพียงไม่กี่คนกลับปลุกฝังให้พวกเขาเหล่านั้นสร้างความปั่นป่วนในพื้นที่ ให้ประชาชนหวาดกลัวจากการกระทำของกลุ่มตน เพื่อแสดงให้เห็นสัญลักษณ์บางอย่างที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเรียบร้อยคิดว่าทำไปแล้วเกิดความหวาดกลัวของประชาชนในพื้นที่มีที่มีความแตกต่างในศาสนาและวัฒนธรรมแต่ทุกคนก็เป็นคนไทย และกฎหมายก็รองรับความเสมอภาคของคนไทยทุกคน

หากพิจารณาถึงหลักคำสอนทุกศาสนา ปฏิเสธความรุนแรงและการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ อิสลามและพุทธเรียกร้อง การให้อภัย การประนีประนอม การให้ความร่วมมือช่วยเหลือ การทำความรู้จักเชื่อมสัมพันธ์ต่อกัน และความยุติธรรม ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติ ชาวมุสลิม ชาวพุทธ เชื่อว่าการสทนาคือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือความบาดหมางระหว่างกัน เพราะประชาชาติมุสลิมเป็นผู้มีศรัทธาในอัลเลาะห์ หรือประชาชาติพุทธเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธเจ้า ให้ความสำคัญกับการสนทนาเพื่อหาข้อยุติ

การประณามการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ หรือก่อการร้ายโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่การก่อการร้ายหรือเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะหมดไปได้ก็เมื่อได้รับการพิเคราะห์พิจารณาอย่างรอบทุกด้านอย่างถูกต้อง ประกอบกับประชาชนในพื้นที่ไม่ว่านับถือศาสนาใดให้ความร่วมมือ คอยเฝ้าระวัง การแจ้งเบาะแส การไม่นิ่งเฉยต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็ทำให้สถานการณ์ในภาคใต้เปลี่ยนแปลงไปได้

และเมื่อถึงเวลานั้นกฎหมายความมั่นคงต่างๆ ในพื้นที่ก็ต้องยกเลิกใช้ในที่สุด เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น