การตายในทรรศนะอิสลามไม่ได้เป็นความทุกข์
อิสลามถือว่าการตายคือการกลับไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ความตาย คือ
การเปลี่ยนแปลงจากการมีชีวิต ที่พร้อมกับร่างกายด้วยการมีชีวิตในโลกต่อไปเหมือนกับการเกิด
เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากการที่ต้องพึ่งร่างกาย
ไปสู่การมีชีวิตทีไม่ต้องการร่างกาย จากชีวิตที่ต้องการสิ่งต่างๆ
ไปสู่ชีวิตที่ไม่ต้องการอะไรเลย
ความตายตามทรรศนะอิสลาม
คือ
จุดหมายปลายทางของการเดินทางชีวิตนี้ไปสู่ชีวิตใหม่ความตายเปรียบเสมือนประตูที่ก้าวผ่านจากชีวิตหนึ่งไปสู่อีกชีวิตหนึ่ง
ซึ่งเป็นชีวิตนิรันดร์ ความตายทำให้มนุษย์สมบูรณ์
เมื่อได้รับข่าวการตายของพี่น้องมุสลิม
มุสลิมจะกล่าวว่า "อินนาลิลลาฮิวะอินนา อิลัยฮิรอญิอูน" (แปลว่า
แท้จริงเราเป็นของอัลลอฮ์ และยังพระองค์ที่เราต้องคืนกลับ) หลังจากนั้นก็จะไปเยี่ยมครอบครัวหรือญาติของผู้ตายและร่วมนมาซ(ละหมาด)
ศพ ตลอดจนไปส่งศพที่สุสานเพื่อทำการฝังศพ
เมื่อมีการตายเกิดขึ้น
อิสลามได้กำหนดจัดการเรื่องฝังศพให้เสร็จเรียบร้อยโดยเร็วและประหยัดที่สุด เพื่อที่จะไม่เป็นภาระแก่คนที่อยู่ข้างหลัง ผู้ป่วยเสียชีวิต จะต้องหันหน้าศพไปยังนครมักกะฮ์
และชำระล้างทำความสะอาดศพ หลังจากนั้นจะห่อศพด้วยผ้าขาวเพื่อนำไปทำพิธีทางศาสนา
และฝังโดยเร็วที่สุด โดยปกติแล้วพิธีการฝังศพของมุสลิมจะเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดภายใน
24 ชั่วโมง
ในการปฏิบัติต่อศพนั้น
อิสลามได้กำหนดให้ปฏิบัติอย่างนุ่มนวลให้เกียรติ
และจะต้องไม่ให้ศพเป็นที่เปิดเผยในสภาพอุจาดหรืออนาจาร
ดังนั้นพี่น้องมุสลิมส่วนใหญ่จึงมักไม่ยินยอมให้มีการผ่าพิสูจน์ศพ
เพราะจะเป็นเสมือนการทำร้ายศพ นอกจากนั้นแล้ว อิสลามยังไม่อนุญาตให้เผาศพ
ด้วยเพราะถือว่าไฟนั้นเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับการลงโทษผู้ทำบาปในนรก
สำหรับกรณีการตายเพื่อศาสนานั้น
จะไม่มีการอาบน้ำศพ
โดยจะฝังศพผู้กล้าในทางศาสนาโดยไม่มีการเปลี่ยนเสื้อผ้าหรืออาบน้ำศพ
และห้ามผู้ไม่ใช่มุสลิมแตะต้องศพ ซึ่งส่งผลให้กรณีเหล่านี้มักไม่มีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย
ช่องว่างระหว่างนิติวิทยาศาสตร์และศาสนาวัฒนธรรม
การชันสูตรพลิกศพในบริบทของวัฒนธรรมมุสลิมนั้น
ยังมีปัญหาความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ และความคิดเห็นความเชื่อของพี่น้องมุสลิมอยู่มาก
เช่น ในมาตรฐานในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย หากมีการเสียชีวิตในลักษณะที่เป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ
กฎหมายได้มีการอนุญาตให้การชันสูตรพลิกศพได้อย่างเต็มที่
และเป็นที่ยอมรับของประชาชนในประเทศ
แต่สำหรับในไทยนั้น
เรื่องนี้ยังมีความไม่เข้าใจอยู่สูงมาก การจะชันสูตรพลิกศพได้ จำเป็นต้องขออนุญาตจากญาติก่อนทุกครั้ง
ซึ่งเกือบทั้ง 100 % จะไม่ได้รับการอนุญาต ให้ดำเนินการ
อีกทั้ง
การจัดการศพในวิถีมุสลิม ซึ่งต้องมีการจัดการศพโดยเร็ว แม้ว่าในอัล-กุรอานจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน
แต่ก็เป็นเรื่องที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าศพจะต้องถูกฝังภายใน
24 ชม. หรือหากเสียชีวิตในช่วงเช้าจะต้องฝังก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ทางภาครัฐ
ต้องดำเนินการจัดการกับศพโดยรวดเร็ว เพื่อส่งศพให้ญาติต่อไป
คนมุสลิมมีความเชื่อว่า
ร่างกายของคนที่ตายไปแล้ว มีความรู้สึกเจ็บปวดเหมือนคนเป็น
จึงต้องปฏิบัติต่อร่างกายของคนตาย ด้วยความเคารพเหมือนปฏิบัติต่อคนเป็น
จะต้องไม่ให้ศพเป็นที่เปิดเผยในสภาพอุจาด
การผ่าศพ (autopsy)
จึงเป็นข้อห้ามในศาสนาอิสลาม ยกเว้นในรายที่ต้องชันสูตรพลิกศพ (forensic
purpose)
ในประเทศมาเลเซีย
และอินโดนีเซีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม สังกัดในสำนักติดชาฟีอีย์
เช่นเดียวกับประเทศไทย ก็พบว่า สามารถชันสูตรพลิกศพ ตามมาตรฐานสากลได้ และถ้าเป็นศพมุสลิมจะเก็บศพไว้ในโรงพยาบาล
3 วัน แต่ถ้าเป็นศาสนาอื่น จะเก็บศพได้ 15 วัน
เพื่อรอญาติก่อนดำเนินการตามหลักศาสนาต่อไป
สำหรับการขุดพิสูจน์ศพก็สามารถทำได้
ถ้ามี คำสั่งของศาล เช่นเดียวกับกฎหมายของไทย ตาม ป.วิ.อาญา มาตราที่ 151 - 153
ในเรื่องการชันสูตรพลิกศพนั้นได้มีคำวินิจฉัยทางศาสนา(ฟัตวา) ของจุฬาราชมนตรี ที่
04/2549 เรื่องการชันสูตรพลิกศพ ที่สามารถทำได้ถ้าจำเป็น
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีและในทางการแพทย์ก็ตาม
แต่อย่างไรก็ตาม
ความเชื่อของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเห็นว่า ไม่ควรกระทำการชันสูตรพลิกศพด้วยการผ่าศพหรือแม้แต่การกรีดผิวหนัง
เพื่อเอาหัวกระสุนที่ตุงอยู่ออกมาประกอบเป็นหลักฐานในการชันสูตรพลิกศพ
ในทางปฏิบัตินั้นมิติทางด้านความเชื่อวัฒนธรรม มักมาก่อนนิติวิทยาศาสตร์เสมอ
หัวกระสุน
หลักฐานแห่งความหวัง
ในปัจจุบัน
สภาพความเป็นจริงของการชันสูตรพลิกศพมุสลิมในพื้นที่ทำได้เพียงการบันทึกบาดแผลภายนอก
โดยดูจากบาดแผล หรือรองวิถีของอาวุธ พยายามระบุตำแหน่งไหนเป็นตำแหน่งที่อาวุธเข้า-ออก
อาวุธที่ทำอันตรายนั้นเป็นชนิดอะไร โดยเฉพาะกรณีที่ยิงด้วยอาวุธปืน
จะต้องระบุว่าเป็นลูกปรายหรือลูกโดด โดยปกติถ้ากระสุนอยู่ลึกมาก
แพทย์ต้องขออนุญาตจากญาติเพื่อผ่าตัดเอากระสุนออก
ซึ่งส่วนใหญ่ญาติมักไม่ยินยอม
คงทำได้เพียงใช้เหล็กตรงแยงตามรูยิงเพื่อหาทิศทางของอาวุธเท่านั้น สุดท้ายอาจจะทำได้เพียงเอ็กซ์เรย์
เพื่อดูกระสุนหรือเศษสะเก็ดระเบิดตกค้างเท่านั้น โดยไม่มีการผ่าศพ
ทำให้การเก็บหัวกระสุนหรือเศษสะเก็ดระเบิดที่ฝังอยู่ในร่างกายไว้เป็นวัตถุพยาน เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดต่อไปนั้นเป็นไปได้ยากมาก
สำหรับกรณี
หัวกระสุนนั้นจะถูกคาดหวังมาจากตำรวจให้ผ่าเก็บไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งกรณีที่ฝังอยู่บริเวณผิวหนัง
แพทย์ก็มักจะดำเนินการผ่าเอาหัวกระสุนออกไว้ให้
แต่หากกระสุนอยู่ลึกก็จะเป็นปัญหาในการนำหัวกระสุนให้กับทางตำรวจ
ทั้งนี้เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแพทย์ทางนิติเวชโดยตรง
อีกทั้งการต้องผ่ากระสุนที่ฝังอยู่ลึกต้องเปิดบาดแผลกว้างซึ่งจะเกิดปัญหากับญาติของผู้เสียชีวิตอย่างแน่นอน
ในบางกรณีแม้กระสุนยังตุงอยู่ที่ผิวหนัง แต่ญาติไม่อนุญาตให้ผ่าออกก็เป็นการยากที่แพทย์จะฝืน
ตำรวจขอให้ผ่า แต่ญาติไม่อนุญาตและมองตาเขียวอยู่อีกมุมหนึ่งของห้อง แพทย์ส่วนใหญ่ก็จะไม่ผ่าให้
เพื่อความปลอดภัยของแพทย์เองที่ยังต้องอยู่ในชุมชนนั้นๆ ทุกวัน
ทำให้ปัญหาการเก็บหลักฐานในเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่
ความยากลำบากของการชันสูตรศพในโรงพยาบาล
การนำศพมาชันสูตรพลิกศพในโรงพยาบาล
ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการชันสูตรในโรงพยาบาลคือ ปัญหาทางสังคมอันเนื่องมาจากญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต
มักจะมายืนมุงกันเป็นจำนวนมาก หลายกรณีที่มายืนโดยแจ้งว่าเป็นญาติ
มาอยู่ข้างหลังการชันสูตรพลิกศพทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
เหมือนเป็นการกดดันเจ้าหน้าที่กลายๆ การกันญาติไม่ให้เข้ามาในทางปฏิบัตินั้น
ทำได้ยากเพราะสถานที่ในการชันสูตรพลิกศพส่วนใหญ่ ก็จะเป็นห้องฉุกเฉิน
หรือแม้แต่ห้องผ่าศพในโรงพยาบาลจังหวัด ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการกันญาติเช่นเดียวกัน
โรงพยาบาลส่วนใหญ่
มีมาตรการในการกันญาติที่ไม่เข้มงวดมากนัก เนื่องจากไม่อยากสร้างปัญหา หรือเงื่อนไขในการทำให้เกิดความไม่พอใจของผู้ประสบเหตุ
อันจะส่งผลเสียต่อโรงพยาบาลในระยะยาว
การชันสูตรพลิกศพในโรงพยาบาลนั้น
ในความเป็นจริงต้องทำด้วยความเป็นกลางที่สุด กล่าวคือไม่เฉพาะญาติเท่านั้น
ที่ไม่มายืนข้างหลังแพทย์ แม้แต่ตำรวจต้องไม่มาอยู่ด้วย
เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาพของความกดดันแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ อันเนื่องจากการชันสูตรพลิกศพนั้นเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น
หลายๆ
ศพในพื้นที่นั้น บางกรณีไม่มีการชันสูตรพลิกศพ คือเมื่อมีการถูกยิงเสียชีวิต
ชาวบ้านก็นำไปฝังบางครั้ง อาจมีการถ่ายรูปโดยผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
มาที่โรงพยาบาลบ้าง เพื่อยืนยันให้แพทย์ออกใบรับรองการตายและเขียนใบชันสูตรพลิกศพ
ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วรูปถ่ายไม่สามารถทดแทนการชันสูตรพลิกศพได้
เป็นเพียงการบันทึกหลักฐานทางการแพทย์ชั้นหนึ่งเท่านั้น
เพราะการเห็นเพียงรูปอาจไม่สามารถเห็นความจริงทั้งหมดได้
หรืออาจมีเงื่อนงำแอบแฝงได้
แต่ในทางปฏิบัติแพทย์ในพื้นที่ก็มีความจำเป็นต้องลงใบรับรองการตายและเขียนหลักฐานการชันสูตรพลิกศพให้
เมื่อต้องชันสูตรพลิกศพผู้ก่อการร้าย
กรณีศพผู้ก่อการร้ายถูกยิงตายนั้น
การชันสูตรพลิกศพในพื้นที่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ญาติจะเข้าไปถึงศพก่อน และมักกอดศพไว้
อีกทั้ง จะห้ามไม่ให้แพทย์ผู้หญิง
คนนอกศาสนาในการไปจับต้องศพ สุดท้ายเจ้าหน้าที่มักจะไม่สามารถดำเนินการใดๆ
กับศพได้ โดยส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลเองนั้น ก็ยินดีที่จะไม่ต้องชันสูตรศพนั้น
แต่ก็จะทำให้การอำนวยความยุติธรรมในการสอบสวนเป็นไปไม่ได้
โดยเจ้าหน้าที่อาจจะให้ญาติยินยอม ที่จะไม่ชันสูตรเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
กรณีศึกษาที่น่าสนใจเช่น ที่อำเภอกะพ้อ
จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 มีเหตุการณ์ปะทะของตำรวจกับผู้ก่อการร้าย
ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิตไป 2 คน ตำรวจได้ตามแพทย์ให้ไปชันสูตรศพที่จุดเกิดเหตุ
เนื่องจาก เป็นกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่า เป็นการรุมทำร้ายผู้บริสุทธิ์
ทำให้ทางโรงพยาบาลปฏิเสธไม่ได้ ด้วยสำนึกในปัญหาและเข้าใจในสถานการณ์ว่า อาจเกิดความไม่เข้าใจของประชาชนเหมือนกรณีตากใบ
และมีปัญหาแน่หากแพทย์ไม่ออกไป เพราะเป็นกรณีที่ชาวบ้านข้องใจ
เมื่อออกไปชันสูตรที่ถนนคนแน่นมาก
ไม่สามารถเอารถโรงพยาบาลเข้าไปได้ จนต้องเดินเข้าไปไกลมาก
มีชาวบ้านมุงดูมากจนน่ากลัว เนื่องจากยังต้องรอพนักงานอัยการอีกนานมาก
ในที่สุดทุกฝ่ายสรุปตรงกันว่า เห็นว่าควรนำศพมาชันสูตรที่โรงพยาบาล
ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น หากกลุ่มชาวบ้านลุกฮือมาแย่งชิงแห่ศพ
มาทำร้ายเจ้าหน้าที่ก็ยากที่จะป้องกันตนได้
กรณีของโรงพยาบาลบันนังสตา
จังหวัดยะลา ก็เป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่สร้างความหนักใจ ให้กับแพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลเป็นอย่างยิ่ง
กล่าวคือ มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิงเสียชีวิต และกว่าที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะนำศพออกจากพื้นที่มาที่โรงพยาบาล
เพื่อการชันสูตรพลิกศพได้ก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง เมื่อมาถึงที่โรงพยาบาล
ก็มีบรรดาไทยมุงจำนวนมาก ได้ยืนอยู่บริเวณนอกรั้วโรงพยาบาล มีการปลุกระดม
มีการเขย่ารั้ว เผาถังขยะและมีบางส่วนเล็ดลอดเข้ามาในโรงพยาบาล
ทันที ที่แพทย์ชันสูตรเสร็จ
ซึ่งใช้เวลาในการชันสูตรอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่นาที ก็มีการแบกศพและแห่ศพออกตั้งแต่หน้าประตูห้องฉุกเฉินไปเลย
พร้อมด้วยเสียงโห่และเสียงแสดงความสดุดีเปรียบประดุจการเชิดชูนักรบศักดิ์สิทธิ์
สภาพเหตุการณ์ทั้ง
2 กรณี
ทำให้การชันสูตรพลิกศพ ในกรณีผู้ที่เป็นผู้ก่อเหตุความไม่สงบนั้น
อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมีมาตรการเฉพาะ ที่รัดกุมกว่าที่ผ่านมา
บทเรียนการชันสูตรศพกรณี
28 เมษายน 2547
สำหรับการชันสูตรพลิกศพ
ในกรณี ที่มีเหตุการณ์สำคัญที่มีศพจำนวนมากนั้นก็เป็นปัญหาเช่นกัน
เช่นกรณีเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 ซึ่งมีการก่อเหตุของผู้ก่อความไม่สงบพร้อมกัน 10
จุด ทำให้มีผู้ก่อการเสียชีวิตกว่า 106 คนนั้น มีศพผู้ก่อการตายในที่เกิดเหตุจำนวนมาก
การชันสูตรพลิกศพในพื้นที่ ส่วนใหญ่มีการลงบันทึกบาดแผลไม่ละเอียด
บันทึกเพียงเหตุการณ์ตาย เช่น ถูกปืนยิงเข้าที่สำคัญ
ไม่มีการเก็บหลักฐานตามหลักวิชาการ ไม่มีการบันทึกรูเข้ารูออก
หรือลักษณะเขม่าดินปืนว่ามีการจ่อยิงหรือไม่ให้ชัดเจน
ปัจจัยสำคัญ
ที่ทำให้การชันสูตรพลิกศพในพื้นที่ ในกรณีการตายหมู่เช่นกรณี 28 เมษายน 2547
มีความบกพร่องอยู่มาก ได้แก่
-
การขาดประสบการณ์ ในการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นแพทย์ทั่วไปจบใหม่
ไม่ใช่แพทย์นิติเวช
-
ความไม่สะดวกในการชันสูตรพลิกศพในพื้นที่ เช่นไทยมุง ความคับแคบของสถานที่
ความไม่พร้อมของเครื่องมือในการออกพื้นที่เป็นต้น
-
สถานการณ์ที่ยังคงมีความเสี่ยงสูง ทำให้ต้องรีบเร่งในการชันสูตรพลิกศพ
ดำเนินการส่งผลให้กระบวนการทางศาลในการพิจารณาคดีนั้น มีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์
ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งตัวบุคลากรทางการแพทย์เอง ซึ่งเป็นผู้ลงบันทึกและต้องไปเป็นพยาน
ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามหลายๆ
คำถามได้อีกทั้งไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับศพที่เสียชีวิตได้ดีพอ
ปัญหาการชันสูตรพลิกศพ
กรณีมีการเสียชีวิตจำนวนมาก ก็เป็นอีกกรณีที่ควรได้รับการพิจารณาแนวทางการดำเนินการเป็นกรณีเฉพาะเช่นเดียวกัน
การตรวจ
DNA
ระบบที่ยังไม่ได้พัฒนา
สำหรับประเทศไทย
ยังไม่มีระบบการชันสูตรพลิกศพหรือผู้ป่วยไม่ทราบชื่อ สกุล
ที่เป็นมาตรฐานชัดเจนกล่าวคือ ยังไม่มีระบบการตรวจ DNA โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากในบริบทของมุสลิมต้องมีการจัดการศพโดยเร็ว
ศพนิรนามส่วนใหญ่ ที่มีการชันสูตรศพก็จะระบุเป็นเพียงชายไม่ทราบชื่อ แล้วมีบาดแผลตรงนี่-ตรงนั้น
เหตุตายคืออะไร ถ่ายรูปเก็บไว้ หากศพเสียชีวิต เป็นเวลานานแล้วก็จะทำให้บวม อืด
ไม่สามารถจะดูลักษณะบุคคลได้ชัดเจน มอบศพให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ของชุมชนไปทำพิธีต่อไป
ซึ่งการที่จะไปขุดศพมาตรวจพิสูจน์บุคคลในภายหลังนั้น
ก็เป็นเรื่องยากและเสียความรู้สึกในหมู่พี่น้องมุสลิม ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดมาตรฐานของการดำเนินการเก็บศพนิรนามให้ชัดเจน
บทเรียนที่ชัดเจนเช่น
กรณีของโรงพยาบาลยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
เมื่อมีการนำศพชายไม่ทราบชื่อซึ่งถูกทำร่ายด้วยอาวุธมาที่โรงพยาบาล พบว่าศพนั้นมีความสูงประมาณ 160 เซนติเมตร
แต่บัตรประชาชนในกระเป๋านั้น มีการขูดเอาใบหน้าออกและมีความสูงจากรูปในบัตรประชาชนประมาณ
170 เซนติเมตร ซึ่งขัดแย้งกับศพจริง ตำรวจมีการร้องขอให้ตรวจ DNA ของชายคนดังกล่าว ซึ่งเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 8-12 ชั่วโมง
แต่ในปัจจุบันนั้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีการจัดระบบการเก็บ DNA
ที่เป็นระบบ แผนกนิติเวชของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองยังไม่มีความพร้อม
ในการตรวจ โรงพยาบาลในพื้นที่ ยังไม่มีความสามารถในการเก็บเนื้อเยื่อ
เพื่อส่งตรวจ DNA ในปัจจุบันยังต้องอาศัยทีมนิติเวชจากทางกรุงเทพฯ
มาดำเนินการให้
ซึ่งโดยวิชาการแล้ว
วิธีการเก็บเนื้อเยื่อเพื่อส่งตรวจ DNA ที่ดีที่สุดคือ
ตัดเอากระดูกต้นขาหรือกระดูกซี่โครงความยาวประมาณ 1 นิ้วมา เพื่อนำไขกระดูกไปตรวจหา
DNA หรือหากเสียชีวิตในเวลาไม่เกิน
48 ชั่วโมง หลังการเสียชีวิต ก็อาจเก็บจากชิ้นกล้ามเนื้อโดยตัดเอากล้ามเนื้อประมาณ
1 ลูกบาศก์เซนติเมตรส่งตรวจ
ไม่แนะนำให้ส่งเนื้อเยื่อจากกระพุ้งแก้มหรือเลือดในการตรวจ เนื่องจากขั้นตอนในการเก็บค่อนข้างยุ่งยาก
และมีการปนเปื้อน DNA ของผู้อื่นได้ง่ายรวมทั้งต้องใช้ media
หรือสารเลี้ยงในระหว่างการขนส่งที่ดีมาก
อย่างไรก็ตามระบบเหล่านี้
ยังไม่ถูกจัดตั้งในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งยังไม่นโยบายจากรัฐบาลว่า จะให้ความสำคัญกับการจัดระบบในเรื่องนี้หรือไม่ และคงต้องอาศัยการศึกษาทางวิชาการอีกพอสมควรว่า
คุ้มค่าหรือไม่ และจะมีการจัดวางระบบอย่างไร จึงมีประสิทธิภาพมากที่สุดภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด
ข้อเสนอสำหรับอนาคตที่อาจไม่ดีที่สุด
สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การวางระบบการชันสูตรพลิกศพในพื้นที่ ให้เป็นระบบให้สามารถอำนวยความยุติธรรมและสามารถสร้างความเชื่อถือจากประชาชนในพื้นที่ได้จริง
จึงเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ โดยอาจจะต้องมีการสร้างลักษณะคล้ายโรงพยาบาลสนามสำหรับการชันสูตรพลิกศพในพื้นที่ขึ้นมาอย่างน้อยจังหวัดละ
1 แห่ง หรืออาจเรียกง่ายๆว่า ศูนย์นิติเวชส่วนหน้า
โดยศูนย์นิติเวชส่วนหน้า
ต้องเป็นสถานที่ที่มีความเป็นกลาง ปฏิบัติงานโดยทีมงานมืออาชีพ
คือมีทีมเก็บหลักฐานในพื้นที่ที่เข้าเก็บหลักฐานและถ่ายภาพลักษณะการเสียชีวิต
การก่อเหตุในที่เกิดเหตุ
หลังจากนั้น ก็นำศพมาชันสูตรพลิกศพเพิ่มเติมในศูนย์นิติเวชส่วนหน้า
โดยต้องเป็นสถานที่ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี ไม่กดดันแพทย์
การชันสูตรในห้องที่ปลอดภัยนั้น จะทำให้ชันสูตรได้เร็วและเก็บรายละเอียดได้สมบูรณ์
อีกทั้งมีพื้นที่ดูแลทางจิตวิทยาและการเยียวยาเบื้องต้นแก่และญาติของผู้สูญเสีย
อย่างไรก็ตาม ในบริบทที่ประเทศไทย
มีแพทย์นิติเวชไม่เพียงพอ
ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกรุงเทพ อีกทั้งยังมีความขัดแย้งกันเองของหน่วยงานนิติเวชในประเทศไทย
ที่มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์
ทำให้โอกาสที่จะมีการระดมกำลังทรัพยากรบุคคล เพื่อจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเป็นไปได้ยากยิ่ง
ปัญหาไม่ใช่สถานที่และงบประมาณ
แต่อยู่ที่บุคลากรที่จะมาทำหน้าอันสำคัญนี้
แต่ก็แน่นอนว่า
เมื่อมีศูนย์นิติเวชส่วนหน้าในการทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพแล้ว
ฝ่ายผู้ก่อการร้ายย่อมจะแก้เกม ด้วยการดำเนินการดักไม่ให้มีการส่งศพ ที่มีความสำคัญมาชันสูตรพลิกศพที่ศูนย์ฯ
แห่งนี้ เพราะการชันสูตรพลิกศพที่ดีมีความเป็นธรรม จะบอกถึงความจริงว่า
คนกลุ่มใดเป็นผู้ทำร้าย จะสามารถทำความจริงให้กระจ่างสยบข่าวลือได้ในระดับหนึ่ง
ทางออกสำหรับการแก้ปัญหาการชันสูตรพลิกศพในสถานการณ์ไฟใต้นั้น
ยังต้องการการแลกเปลี่ยนเพื่อแสวงหาทางออกที่ดีที่สุด สถานการณ์เป็นพลวัต
คงไม่มีทางออกทางใดที่ดีที่สุด การปรับเปลี่ยนกลไกของรัฐในการตามให้ทันกับปัญหาการชันสูตรพลิกศพที่หลากหลาย
จะช่วยให้สามารถใช้กลไกด้านนิติวิทยาศาสตร์ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย
จากสถานการณ์ความไม่สงบในสถานการณ์ไฟใต้ ให้ได้มากที่สุด
จนถึงวันนี้รัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ว่ากระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
และกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีการวางระบบการชันสูตรพลิกศพ ที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว
ที่น่าเศร้ากว่านั้น คือ ในวันนี้ยังไม่มีความกระตือรือร้นใดๆ
จากผู้บริหารในบ้านเมือง ที่จะผลักดันให้เกิดระบบการชันสูตรพลิกศพในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง
โดยทฤษฎีแล้ว
การฆ่าหรือการตายผิดธรรมชาตินั้น หากมีการสอบสวนหรือการชันสูตรเต็มรูปแบบ จะสามารถวิเคราะห์รูปแบบได้ว่า
เสียชีวิตหรือการทำลายศพนั้น เป็นการฝึกมาจากกลุ่มใดหรือฝ่ายใด เช่น ลักษณะการยิง
การต่อวงจรสำหรับระเบิด ลักษณะการตัดคอหรือเผาทำลายศพ
ซึ่งจะทำให้พอที่จะสามารถแบ่งกลุ่มการกระทำได้ว่า กลุ่มติดอาวุธนั้นๆ
มีพื้นที่ปฏิบัติการในพื้นที่ใดบ้าง ทำให้สามารถจำกัดวงในการติดตามได้ง่ายขึ้น
อีกทั้ง กรณีของหัวกระสุนก็เป็นเหมือนกับ
DNA
ของมนุษย์ คือ ปืนทุกกระบอกจะมีลายของหัวกระสุนที่แตกต่างกัน หากสามารถเก็บหัวกระสุนมาได้นำมาเปรียบเทียบกันก็จะทราบว่า
เป็นเหตุจากปืนกระบอกเดียวกันหรือไม่
แต่ด้วยข้อจำกัด
ในการชันสูตรพลิกศพทั้งในแง่ของบริบทมุสลิมที่มักไม่อนุญาตให้มีการชันสูตรเต็มรูปแบบ
รวมทั้งปัญหาในระบบการชันสูตรพลิกศพของภาครัฐเอง ที่ฝากไว้กับแพทย์ในโรงพยาบาล ซึ่งไม่มีทักษะในการผ่าพิสูจน์ศพดังเช่นแพทย์นิติเวช
จึงทำให้การเก็บหลักฐานหรือการรวบรวมหลักฐานจากการชันสูตรพลิกศพนั้นยังมีปัญหาอยู่มาก
ปัจจุบันบทบาทของแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ
นั้นทำการชันสูตรพลิกศพ เพื่อการตรวจบาดแผลภายนอกเท่านั้น
ซึ่งไม่เพียงพอกับการอำนวยความยุติธรรมและการพิสูจน์หาความจริง จากสถานการณ์ความไม่สงบ
การชันสูตรศพภายนอกโรงพยาบาล
ณ จุดเกิดเหตุนั้น วัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อให้แพทย์เห็นสภาพทั่วไปของพื้นที่
ร่วมรวบรวมหลักฐานและดูพฤติกรรมการตาย แต่อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ไม่สงบนี้ การชันสูตรศพในพื้นที่นั้นไม่สามารถทำได้ละเอียดมากนัก
และเพื่อการผดุงความยุติธรรมก็ควรนำมาชันสูตรศพให้ละเอียดมากขึ้นในโรงพยาบาลด้วยเสมอ
รวมทั้งจะได้แต่งศพก่อนส่งมอบกับญาติผู้เสียชีวิต เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น