วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2565

การขุดศพหรือชันสูตรศพของมุสลิม ที่ควรทราบ

การขุดศพ เพื่อชันสูตรที่ได้ฝังไปแล้ว หรือการชันสูตรศพของมุสลิมที่พึ่งเสียชีวิต เป็นสิ่งต้องห้ามและตั้งอยู่บนพื้นฐานการให้เกียรติและคุ้มครองคุณค่าอันสูงส่งของความเป็นมนุษย์ กฎเกณฑ์ต่างๆในการปฏิบัติต่อผู้ตาย ได้ถูกบัญญัติขึ้นเป็นหน้าที่ ไว้ในฟัรดูกิฟายะฮ ในการจัดการศพ ต้องให้เกียรติต่อศพ ตามความเหมาะสมภายใต้เจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ดังที่กล่าวไว้ในอัล-กรุอาน ความว่า "และเรา(พระเจ้า) ได้ให้พวกเขา (มนุษย์) เลอเลิศเหนือกว่าสรรพสิ่งอันมากมาย ที่เราได้ดลบันดาลอย่างล้นเหลือ" (อัล-กุรอาน : บทอัลอิสรออฺ :ประโยคที่ 70 )

ทัศนะนักวิชาการโลกมุสลิม เกี่ยวกับการขุดศพ เพื่อชันสูตร จากการศึกษาทั้งคัมภีร์อัล-กุรอาน และวัจนะศาสดามุฮัมมัด(ซล.) เกี่ยวกับการขุดศพเพื่อชันสูตร และการชันสูตรศพของมุสลิมที่พึ่งเสียชีวิต เพื่อเหตุผลข้างต้น ปรากฏว่า ไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ระบุชัดเจนถึงการห้าม หรืออนุมัติในการกระทำดังกล่าว อีกทั้งยังไม่พบหลักฐานใดๆ ยืนยันแน่ชัดว่า มุสลิมยุคแรกทำการชันสูตรศพ เหมือนที่เป็นอยู่ในสมัยปัจจุบัน

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้นักวิชาการอิสลามปัจจุบัน มีทรรศนะแตกต่างกัน 2 ทัศนะ คือ ไม่อนุญาตให้ทำการดังกล่าว โดยมีเหตุผลบนพื้นฐานทางศาสนา และอนุญาต ให้ทำการกระทำดังกล่าวโดยอนุโลม

ดังนั้น สำหรับประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและเป็นไปตามหลักกฎหมายเดียวกัน ประกอบกับตำราศาสนาของปราชญ์อิสลามในอดีตเกี่ยวกับการชันสูตรศพนั้นปรากฏว่า ไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ระบุชัดเจนถึงการห้ามหรืออนุมัติในการขุดศพ เพื่อชันสูตรศพที่ได้ฝังไปแล้วหรือการชันสูตรศพของมุสลิมที่พึ่งเสียชีวิต จึงมีการสัมมนาหาข้อยุติในเรื่องนี้ มีผลการสัมมนาโดยสรุปได้ดังนี้.-

- การขุดศพ เพื่อชันสูตรที่ได้ฝังไปแล้วหรือการชันสูตรศพของมุสลิม ที่พึ่งเสียชีวิต เป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นในสถานการณ์มีความจำเป็น การดำเนินการต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม และได้รับความยินยอมจากญาติผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ การปฏิบัติต้องเป็นไปอย่างนิ่มนวลละมุนละไม ให้ความเคารพและเกียรติศพ พร้อมทั้งต้องระมัดระวังไม่กระทำใดๆ อันเป็นการลบหลู่เกียรติยศของศพ และเมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรแล้ว ให้รีบรวบรวมชิ้นส่วนของศพทั้งหมด เพื่อนำไปฝังตามหลักการศาสนาที่สำคัญ

๑. ศพถูกฝังอยู่ในที่ดิน ซึ่งเจ้าของที่ดินไม่ยินยอม

๒. ศพถูกฝังรวมอยู่ในสุสานของศาสนิกอื่น

๓. ศพถูกฝังอยู่ในที่ดินที่จะมีการสร้างถนน หรือขยายมัสยิดโดยไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น

๔. การผ่าศพ เพื่อพิสูจน์หลักฐาน หาความยุติธรรม และนำคนผิดมาลงโทษ โดยการฆ่าชดใช้(กิซอซ)

๕. สถานที่ฝังศพนั้น เป็นทางผ่านของสิ่งโสโครก

๖. เกรงว่า หลุมศพนั้นจะมีสัตว์มาขุดคุ้ยทำลายให้เป็นที่อุจาดตา

๗. การผ่าท้องศพ เพื่อเอาทรัพย์เงินทองบางอย่าง ที่เขาได้กลืนเข้าไปก่อนตายออกมาคืนแก่ผู้เป็นเจ้าของ หรือเมื่อลืมสิ่งของมีค่าตกหล่นในหลุมศพ

๘. เพื่อเอาผ้าห่อศพคือแก่ผู้เสียชีวิต

๙. การผ่าท้องศพผู้เป็นมารดา เพื่อรักษาชีวิตบุตรที่อยู่ในครรภ์

๑๐. กรณีทายาทรับมรดกมีความขัดแย้งกันต่อศพผู้เสียชีวิต

.........................................................

หมายเหตุ :  ๑. คนที่ขุดหลุมศพนั้น เป็นผู้ชายหรือหญิงก็ได้ แต่คนที่ชันสูตรศพต้องเป็นเพศเดียวกันกับศพ และต้องเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามด้วย(อนุโลมได้ ถ้าจำเป็นจริงๆ)

   ๒. อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่าผู้นับถืออิสลามอยู่บนพื้นฐาน ที่ไม่ต้องการให้มีการขุดหรือผ่าพิสูจน์ใดๆ ทั้งสิ้น หากมีความจำเป็นจริงๆต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นทันเวลา และให้เกียรติต่อกันเสมอ

   ๓. หันมาช่วยกันทำสังคม และประเทศชาติให้น่าอยู่ครับ

และในฐานะผู้เขียนบทความ อยากฝากถึงทุกหน่วยงาน, องค์กรสิทธิต่าง ๆ ในพื้นที่ เรื่องการปฏิบัติตามหลักศาสนา คือเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นการที่จะเข้าปฏิบัติ ต้องนำผู้ที่เข้าใจในหลักการ ร่วมถึงผู้มีสิทธตัดสินใจได้ หากไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะเกิดแรงต้านอีก หลายๆ ประเด็นตาม เพียงเพราะต้องการเอาชนะ บนคามเข้าใจในความรู้สึกของตนเอง ฝากด้วยครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น