วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ม่านพหุวัฒนธรรม วังวน...ชายแดนใต้

ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่องในสังคมพหุวัฒนธรรม นับจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิต ผู้คนชายแดนใต้เป็นอย่างมาก ทั้งการเดินทาง การประกอบอาชีพ การศึกษา

ทั้งยังกระทบต่อกระบวนการสร้าง “สันติภาพ”...“สันติสุข” ในแง่ของความต่อเนื่องในการดำเนินการ เนื่องจาก มีอุปสรรคด้านการปิดพรมแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย เนื่องจากความรุนแรงของโรคระบาด อย่างไรก็ตาม การพูดคุยสันติภาพ...สันติสุข ภายใต้สถานการณ์ที่เปราะบางยังคงเดินหน้าต่อไป

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายในการแสวงหาสันติภาพที่ยั่งยืน

“การศึกษารูปแบบการเมือง การปกครองและอัตลักษณ์ ที่สอดคล้องกับพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้”(ตุลาคม 2562) เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม และพัฒนามนุษย์ โดยใช้นักวิจัยจาก 6 สถาบันการศึกษาหลัก ได้แก่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งนักวิจัยผู้ช่วยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สะท้อนภาพไว้ว่า เหตุการณ์จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย นับตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา จำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นมากกว่า 20,000 เหตุการณ์ ประชาชนและเจ้าหน้าที่ต้องเสียชีวิตมากกว่า 6,800 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 13,400 ราย และสร้างผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้างอย่างมากมาย จึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยจึงเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ และมีความยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน?

และ...ทำไมทางการไทย ถึงมีความยากลำบากในการหาทางออกต่อปัญหานี้ และเหตุใดปัญหานี้ ถึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ยาก?

สถานการณ์ดังกล่าวถูกอธิบายด้วยความรู้หลายชุด แต่อาจกล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องกับ 5 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยทางการศึกษา ปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยทางศาสนา ปัจจัยทางสังคม การแก้ปัญหาสถานการณ์ในชายแดนใต้จำเป็นต้องใช้ความรู้หลายชุดเข้าไปช่วยในการแก้ไขปัญหา ชุดความรู้หนึ่งเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นแนวคิดที่มองว่า “ความยากจน” และ “ความด้อยพัฒนา” เป็นสาเหตุของความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เริ่มปรากฏชัด...

ที่การกลืนกลายทางวัฒนธรรมแบบบังคับ ที่มีมาแต่เดิมค่อยๆ ลดบทบาทลง และเริ่มเข้าสู่ยุคที่รัฐไทย ใช้การพัฒนาเป็นเครื่องมือยับยั้งการต่อต้านรัฐ และเพื่อเอาชนะหัวใจของชาวมลายูมุสลิมที่นั่น

“รัฐไทย” มีความหวังว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจ จะสร้างความเป็นปึกแผ่น ความภักดีต่อชาติ สำนึกในความเป็นไทย และจะป้องกันการต่อต้าน หรือการถูกชักจูงจากผู้ไม่หวังดีภายนอกได้

แม้เวลาจะผ่านมาแล้วกว่าสี่สิบปี...แนวคิดนี้ก็ยังคงมีความสำคัญในปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ สำหรับการเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคงนั้น ความยากจน และความด้อยพัฒนาถูกมองว่าเปิดช่องให้ “ผู้ไม่หวังดี” มาแทรกแซง ส่งผลต่อการขยายตัวของขบวนการก่อความไม่สงบ

น่าสนใจว่า...จากการศึกษา ดูเหมือนจะมีข้อมูลสนับสนุนความคิดดังกล่าว โดยพบหมู่บ้านพื้นที่สีแดง มักกระจุกตัวอยู่ในเขตที่มีความยากจนหนาแน่น เนื่องจากมีปัญหาในการประกอบอาชีพ

ข้อมูลความรู้นี้ ทำให้รัฐเห็นว่าการใช้ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ น่าจะช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยในระยะหลายปีมานี้ รัฐได้ทุ่มงบประมาณเกือบสามแสนล้านบาท ในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้

แต่...กระนั้นความรุนแรง ก็ยังปรากฏและเกิดขึ้นเป็นระยะ ในแง่มุมของชุดความรู้อื่นคือการที่ “ชาวมุสลิม” ถูกผลักให้เป็น “คนชายขอบ (Marginality)” ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคม โดยความเป็นชายขอบจะหมายถึงผู้คนที่ด้อยอำนาจ...คนที่ตกเป็นเบี้ยล่าง...ของคนกลุ่มใหญ่ และคนยากไร้

เมื่อคนเหล่านี้ เป็นชาติพันธุ์คนกลุ่มน้อย เพศด้อย และไม่มีตำแหน่งทางสังคม หรือเรียกรวมๆ ว่ามีสถานะเป็น “คนอื่น” อีกด้วยแล้ว

จึงทำให้คนเหล่านี้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกีดกันออกซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือเป็นชายขอบในพหุมิติ ซึ่งกระบวนการเป็นคนชายขอบเกิดขึ้น เมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลถูกปฏิเสธโอกาสที่จะเข้าถึงตำแหน่งสำคัญเป็นสัญลักษณ์...ทางเศรษฐกิจ ศาสนา อำนาจทางการเมืองในสังคมใดๆ

“การถูกปฏิเสธ และถูกกีดกันมาจากกระบวนการสำคัญในการสร้างภาวะความเป็นชายขอบ คือการสร้างความหมายในแง่ลบให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วนำมาผูกติดเข้ากับอัตลักษณ์ของกลุ่มคนในสังคม โดยการแยกข้อเท็จจริงและการกระทำออกจากความเป็นตัวตนของคน” อัตลักษณ์...ชายขอบจึงถูกสร้างและให้ความหมายโดยสังคมศูนย์กลางที่มีวิธีคิดแบบแยกขั้ว ที่ให้คุณค่าและอำนาจแก่ขั้วหนึ่งสูงกว่าอีกขั้วหนึ่ง

”แท้จริงแล้วพวกเขา “เป็นชายขอบหรือแค่แตกต่าง”

...ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ส่วนหนึ่งเข้าใจปัญหา และมีความพยายามกำหนดกฎเกณฑ์ที่ตั้งอยู่บนฐานของความเคารพต่อศักดิ์ศรีของคน ประชาชนส่วนใหญ่ ในจังหวัดชายแดนใต้นั้น เป็นเชื้อชาติมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามอันมีอัตลักษณ์ วัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ซึ่งมักจะเรียกรวมกันโดยรวมว่าเป็นคนไทยที่นับถือ “ศาสนาพุทธ”...โครงสร้างการปกครองซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการดำเนินชีวิต จึงตอบสนองต่อความแตกต่างทางอัตลักษณ์นี้ด้วย

ซึ่งหากไม่สามารถตอบสนองได้ ก็จะเกิดปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในที่สุด สอดคล้องกับชุดความรู้หนึ่งคือเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่รัฐจัดการกับ “ชนกลุ่มน้อย”...ทางเชื้อชาติและศาสนาในภาคใต้ของประเทศด้วยการพยายามใช้วิธีการปกครองแบบ...“รัฐเดี่ยว” ซึ่งถือว่าไม่ได้ผล เพราะ “ชาวไทยมุสลิม” ในภาคใต้มีแนวคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากกลุ่มชาวพุทธเถรวาท ในพื้นที่ศูนย์กลางจึงไปกันไม่ได้กับวิธีการปกครองแบบรัฐรวมศูนย์หนึ่งเดียว อีกทั้งกลุ่มชนชั้นนำ ในเมืองหลวงก็มีท่าทีกดเหยียดชนชาติ...ถ้าไม่ใช่ด้วย “ความเกลียดชัง” หรือไม่ก็ด้วย “ความสงสาร”

ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ยาเสพติด อิทธิพลท้องถิ่น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาการศึกษา การขาดประสิทธิภาพของกลไกรัฐ และความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐ ที่จริงก็ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ

แต่...เมื่อมาเกิดในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็มีความเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคงและกลายมาเป็นสาเหตุของความไม่สงบ วังวนปัญหาความไม่สงบ...การใช้ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นเงื่อนปัญหาใหญ่ ที่ยังไม่คลี่ลายโดยง่าย ระวังไว้ว่า...หากแก้ไม่ตรงจุด เงื่อนนี้ก็จะยิ่งมัดแน่นขึ้นเรื่อยๆ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น