วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565

พหุวัฒนธรรมกับการสืบทอดและดำรงอัตลักษณ์ของชาวไทยพุทธภาคใต้

 

การสืบทอดจารีตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา คือจารีตที่เป็นไปในทางปฏิบัติทางศาสนาของคนในชุมชน และจารีตประเพณีอันเป็นการศึกษาเล่าเรียนและการเขียนตำนาน จารีต ประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อ และศาสนพิธีของคนในท้องถิ่น การศึกษาตำนานพื้นบ้านที่ว่าด้วย เรื่องราวของพุทธศาสนาสามารถอธิบายที่มาของจารีตประเพณีอันเป็นวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนภายใต้ความเชื่อเดียวกัน หรือความเชื่อ ความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งเคารพทางศาสนาร่วมกันในชุมชน

โครงการวิจัยการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมพหุวัฒนธรรมจากตํานานท้องถิ่นภาคใต้ จึงเกิดขึ้นเพื่อศึกษาพัฒนาการสังคมพหุวัฒนธรรมในท้องถิ่นภาคใต้ จากตำนานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้และเพื่อวิเคราะห์คุณค่าการดำรงสังคมพหุวัฒนธรรมใน สังคมท้องถิ่นภาคใต้ที่สะท้อนผ่านตำนานท้องถิ่น

พุทธศาสนากับอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้

พุทธศาสนามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อนครศรีธรรมราชมาอย่างยาวนาน นับแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ที่เริ่มเผยแพร่เข้าสู่พื้นที่นครศรีธรรมราช พุทธศาสนาได้มีบทบาทต่อการสร้างมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ จนเป็นที่กล่าวขานถึงความเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนาเมืองหนึ่ง และแม้ว่ามรดกทางวัฒนธรรมในพุทธศาสนาจำนวนมาก ที่ปรากฏขึ้นในระยะเริ่มแรกอาจสูญหายไปบางส่วน แต่ยังคงมีส่วนที่หลงเหลือ เช่นหลักฐานทางโบราณคดี โบราณสถานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ ศาสนา และประเพณี เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ (พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช) การสมโภชน์พระบรมธาตุ และประเพณีสวดด้าน เป็นต้น

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของชาวเมืองนครศรีธรรมราช และคติความเชื่อ เกี่ยวกับการบูชา พระบรมธาตุในตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองนครศรีธรรมราช การแห่ผ้าขึ้นธาตุ หมายถึง การแห่ผ้าผืนยาวเพื่อบูชา พระพุทธเจ้า โดยการนำขึ้นห่ม และโอบล้อมรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ณ วัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดมาอย่างยาวนาน ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าอาจเริ่มขึ้นในสมัยพระยาศรีธรรมาโศกราช

ด้วยเหตุนี้ ตำนานจึงมีส่วนสำคัญในการอธิบายที่มาของประเพณีอันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางศาสนาที่ชาวไทยในภาคใต้รับมาจากอินเดียและลังกา ซึ่งชาวพุทธในอินเดียเชื่อว่า การทำบุญ และการกราบไหว้บูชาที่ให้กุศลแท้จริงจะต้องปฏิบัติต่อพระพักตร์และใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และเป็นรูปธรรม แม้พระพุทธเจ้าทรงเสด็จปรินิพพานแล้ว สัญลักษณ์ที่แทนการระลึกถึงองค์พระพุทธเจ้า เช่นการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์พระพุทธรูป และการกราบไหว้บูชา จึงเป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า และอาจเป็นที่มาของการนำผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อแสดงความเคารพบูชาและระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า

ความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาในสมัยพระยาศรีธรรมาโศกราช ในตำนานกล่าวถึง การสืบทอดพุทธศาสนาโดยการสร้างสัญลักษณ์ เพื่อระลึกถึงองค์พระพุทธเจ้า ตามธรรมเนียมของพระมหากษัตริย์ในอุดมคติของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ที่นิยมกระทำกัน เช่นการสร้างพระธาตุ การอุปถัมภ์บำรุงวัดและความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ การส่งเสริมคณะสงฆ์ให้มีการศึกษาเล่าเรียนจากคณะสงฆ์เมืองต่าง ๆ ที่มีภูมิความรู้ทางปริยัติธรรม เช่น ตำนานกล่าวถึงลังกา เมืองหงษา (หงษาวดี) และอยุธยา การปลูกพระศรีมหาโพธิ์ ในวัดสำคัญ เป็นต้น

ประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนาในภาคใต้กับการสร้างการยอมรับทางวัฒนธรรม

ประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จัดขึ้นสองครั้งในวันมาฆบูชา (ขึ้น 15 คำเดือนสาม) และวันวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือนหก) โดยการนำผ้าไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (ปัจจุบันนิยมทำกันในวันมาฆบูชามากกว่า) ในส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมผ้าพระบฎ ผ้าที่ใช้ขึ้นห่มพระธาตุมักนิยมใช้สีขาว เหลือง และแดง พุทธศาสนิกชนที่ต้องการห่มผ้าพระธาตุ จะต้องเตรียมผ้าขนาดความยาวตามศรัทธาของ ตน เมื่อไปถึงวัดจะนำผ้ามาผูกต่อกันเป็นขนาดยาวที่สามารถห่มพระธาตุรอบองค์ได้ ผ้าพระบฎมีการเขียนเป็นรูปพุทธประวัติทั้งผืนโดยช่างเขียน แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำผ้าพระบฎ เพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ในการประกอบพิธีได้มีการถวายภัตราหาร แด่ พระสงฆ์ และถวายเครื่องอุปโภค ปริโภคที่จำเป็นในวัดพระธาตุนครศรีธรรมราช วัฒนธรรมของชาวไทยภาคใต้นั้น การบูชาพระบรมธาตุนอกจากจะมีการแห่ผ้าและขึ้นห่ม พระบรมธาตุในประเพณีประจำปีแล้วก็อาจกระทำในโอกาสอื่นๆ ได้เช่นกัน

ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช จึงเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญให้เกิดบูรณาการทางวัฒนธรรมของสังคมท้องถิ่นได้ประการหนึ่งเพราะพระบรมธาตุคือส่วนที่คงอยู่อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดจากบุคคลอันเป็นที่เคารพ(องค์พระพุทธเจ้า) จึงนับเป็นสิ่งเคารพที่เข้าไปถึงจิตใจ และการยอมรับของคนที่เชื่อถือในสังคม

นอกจากนี้ ความเชื่อและประเพณีอันสืบเนื่องมาจากพระบรมธาตุ ในสังคมโบราณยังมีบทบาทต่อการสร้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และการเมืองระหว่างแคว้นต่อแคว้น หรือรัฐต่อรัฐ อีกด้วย เช่น การที่กษัตริย์ทรงใช้วิธีเผยแพร่พุทธศาสนาเป็นสื่อในการเจริญสัมพันธ์ไมตรีระหว่างกัน ทำให้การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ และการยอมรับประเพณีพิธีกรรมจากเมืองหนึ่งมาปฏิบัติ  สร้างการยอมรับร่วมกันระหว่างชนชั้นปกครองและประชาชน  ด้วยเหตุนี้จึงมักพบรูปแบบทางศิลปกรรมของพระสถูปเจดีย์ที่มีอิทธิพลในเมืองต่าง ๆ ในตำนานพระบรมธาตุก็มีข้อความที่กล่าวถึงการรับเอาพระบรมธาตุจากลังกานับแต่พระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ นครศรีธรรมราช ส่งผลให้นครศรีธรรมราชอยู่ในฐานะศูนย์กลางของหัวเมืองตอนใต้ในราวพุทธศตวรรษที่ 18

เรื่องเล่าและตำนานพื้นบ้านทางพุทธศาสนากับศิลปะการแสดงในภาคใต้

อิทธิพลของเรื่องเล่าและตำนานพื้นบ้าน เช่น ตำนานนางเลือดขาวที่มีต่อการตำนานมุขปาฐะของชาวภาคใต้ เป็นที่มาของศิลปะการแสดงละครรำของชาวใต้ที่สำคัญคือมโนรา หรือละครโนห์ราชาตรี จากการศึกษาพบว่า ที่มาทางประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมการรับอิทธิพลของการจัดแสดงละครรำประเภทนี้ ได้มาจาก ละครรำกถากลี ของชาวอินเดียใต้ที่เข้ามาในคาบสมุทรไทยราวพุทธศตวรรษที่ 13–16 ซึ่งเป็นช่วงที่ อาณาจักรศรีวิชัยเจริญรุ่งเรือง แต่นิยมเล่นเรื่องราวทางพุทธศาสนามหายาน เรื่องพระสุธน–นาง มโนห์รา แทนเรื่องมหากาพย์รามายณะ และมหาภารตะอินเดีย  โดยรับอิทธิพลมาจากนกลันนา(อินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนชื่อชาตรีนั้นมาจากลักษณะละครที่ร่อนเร่ไปแสดงตามที่ต่างๆ ชาวอินเดียที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคใต้ของไทย ซึ่งมีชาวอินเดียมาจากแคว้นเบงกอล เรียกละครรูปแบบนี้ว่า ยาตรา ยาตรี(ภาษาสันสกฤต) ซึ่งสำเนียงเบงกอลีเรียกว่า ชาตรา ชาตรี

ตำนานเมืองและตำนานพุทธศาสนา จากการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองสำคัญและการบอกเล่าประวัติพุทธศาสนา และการเผยแพร่พุทธศาสนาไปยังดินแดนตอนใต้ของไทย ส่วนใหญ่เป็นการเขียนบันทึกจากพระสงฆ์ในพุทธศาสนาหรือผู้รู้ที่ผ่านการบวชเรียน  เพราะวัดในสังคมไทยในอดีตเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้อักษรศาสตร์และการศึกษาเล่าเรียนในแขนงนี้ ทำให้เกิดการสร้างนักปราชญ์ผู้รู้ที่มีทักษะการเรียนอักขระวิธี ซึ่งเป็นภูมิรู้สำคัญในการเขียนหรือจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น