วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2565

รัฐบาลร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมพลังสตรี สร้างสันติสุขชายแดนใต้

เมื่อ 1 กันยายน 2565 ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี/กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล(ด้านประสานการมีส่วนร่วม) พร้อมด้วย นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสตรี ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส พร้อมติดตามวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสตรีระดับชุมชน โดยมี นายอับดุลอาซิซ เจ๊ะมามะ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นางซารีนา  เจ๊ะเลาะ ประธานชมรมมุสลีมะห์ประจำศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี จังหวัดนราธิวาส รวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ตลอดจนนำเสนอผลการดำเนินงานของศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี ในห้วงที่ผ่านมา

นางซารีนา เจ๊ะเลาะ ประธานชมรมมุสลีมะห์ ประจำศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ชมรมมุสลีมะห์จังหวัดนราธิวาสได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันและได้จัดตั้งกลุ่มของศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีกว่า 3 ปี ซึ่งมีทั้งหมด 18 ศูนย์ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีบทบาทในการบรรเทาและช่วยเหลือสตรีในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาครอบครัว ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มสตรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากใรการเปิดใจคุย ได้ระบายความทุกข์ใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันหาแนวทาง และทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน

ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของปัญหายาเสพติดของสามี ที่นำมาซึ่งการถูกทำร้ายทุบตีของภรรยา บางรายภรรยา ต้องเป็นผู้นำในการหารายได้ หาเลี้ยงครอบครัวด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการแบ่งมรดกระหว่างสามี ภรรยาที่ เมื่อมีปัญหากันในครอบครัวจะตกลงกันไม่ได้ ดังนั้นศูนย์แห่งนี้ จึงต้องทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในเบื้องต้น

ประธานชมรมมุสลีมะห์ ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี จังหวัดนราธิวาส พร้อมกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาสและศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ช่วยหนุนเสริมและขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่อง ในการร่วมมือประสานการทำงานมาด้วยดี

ขณะที่สถิติ ของการให้บริการให้คำปรึกษาของศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่เดือนมกราคม–สิงหาคม 2565 มีจำนวนผู้มาใช้บริการ 273 ราย เป็นผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 54 ราย ยุติคดี 18 เคส อยู่ระหว่างดำเนินการ 24 เคส และส่งต่อสหวิชาชีพ 12 เคส โดยส่วนใหญ่มาขอคำปรึกษา 39 ราย รองลงมา เป็นการฟ้องหย่า 15 ราย และเรื่องมรดก 7 ราย

ด้านผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี/กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ด้านประสานการมีส่วนร่วม) กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลให้ความสำคัญ ในเรื่องของการเข้าถึงกระบวนการวิธีทำของสตรี เพราะว่าในพื้นที่ตรงนี้ ใช้กฎหมายอิสลาม ในเรื่องของครอบครัว กรณีที่มีความขัดแย้งในครอบครัวเกิดขึ้น ผู้หญิงก็ต้องปฏิบัติตามหลักศาสนา เเต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บางประการ ที่ทำให้ผู้หญิงที่ถูกสามีตบตี ทำรายร่างกาย หรือว่าละทิ้งการดูเเลด้วยปัญหาติดยาเสพติด เเต่ก็ไม่สามารถหลุดออกจากความลำบากปัญหาครอบครัวตรงนั้นได้

โดยแนวทางในการเเก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ก็คือต้องเริ่มจากคนในพื้นที่และในส่วนของศูนย์บริการให้คำปรึกษาพลังสตรีนี้ ถือว่าเป็นโมเดลที่จะช่วยเหลือผู้ประหญิงให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ได้เริ่มมากว่า 3 ปี เเล้ว หลังจากนี้ทาง ศอบต. ก็จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของศูนย์นี้ ให้เข้มเเข็งมากขึ้น เพราะว่าศูนย์นี้ ไม่ใช่ตั้งอยู่ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น เเต่ว่ามีกระจายอยู่ใน 18 พื้นที่ทั่วจังหวัดนราธิวาส

เพราะฉะนั้น การที่จะให้พูดถึงการที่จะให้ผู้หญิงเข้ากระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวางมากขึ้น การทำงานกับท้องถิ่นก็เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะฉะนั้นทาง ศอบต. จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณตรงนี้ หลังจากที่คุยกับทางกรรมการของศูนย์ ต้องชื่นชมพลังของผู้หญิงก่อน ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดอย่างมาก ที่ส่งเสริมบทบาทผู้หญิง และขอบคุณผู้หญิงในชุมชนทุกคน ที่เป็นพลังเเล้วก็ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของของผู้หญิงตรงนี้

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวเพิ่มเติมอักว่า อยากให้จังหวัดอื่นโดยเฉพาะในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ พิจารณาเอาโมเดลตรงนี้ มาเป็นตัวอย่าง เพราะว่าความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม ทุกวันนี้มันมีเพิ่มมากขึ้น และถ้าผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่สามารถหลุดออกจากครอบครัวที่ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจตรงนี้ มันก็จะเป็นปัญหาทางสังคมต่อไป เพราะผู้หญิงก็คือเเม่ และยังมีลูกอีก เขาต้องได้รับความยุติธรรม จึงต้องมีกลไกที่เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่เอง

เพราะฉะนั้น การทำงานของภาคประชาชนทางศาสนาและทางภาครัฐ ถ้ามีการสอดประสานกันได้ด้วยดีก็จะประโยชน์กับผู้หญิงกับครอบครัวเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ศอ.บต. สนับสนุนงบประมาณขับเคลื่อนการดำเนินงาน ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อม เพื่อการเปลี่ยนผ่านกระบวนการยุติธรรมประจำปี 2564 กิจกรรมการพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีเพื่อความมั่นคง โดยมีกิจกรรมย่อย ในการจัดทำคู่มือการคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี รวมทั้งอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง จัดพิมพ์คู่มือจำนวน 5,015 เล่ม เพื่อนำไปมอบให้กับหน่วยงานราชการ เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเด็ก เยาวชน และผู้หญิงนำไปประกอบการปฏิบัติงานในการคุ้มครองเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ศอ.บต.ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมการพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย กิจกรรมขับเคลื่อนการอำนวยความเป็นธรรมต่อเด็กและสตรี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะกรรมการศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) เครือข่ายภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยจะมีการอบรมส่งเสริมมาตรการการอำนวยความเป็นธรรมต่อเด็กและสตรี การประชุมขับเคลื่อนภารกิจงานพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีเพื่อความมั่นนคง กิจกรรมเสริมพลังเด็กกำพร้า และกลุ่มเปราะ บางที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมบทบาทสตรีในระดับหมู่บ้าน เพื่อเป็นเครือข่ายในการดูแลเด็กและสตรีกลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย และการใช้ศาสนสถาน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอำนวยความเป็นธรรมของสตรีและกลุ่มเปราะบางในระดับชุมชนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น