วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2565

ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผล 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป

 

💵💵ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผล 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป

จากปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นหลาย ๆ อย่าง ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนใช้แรงงานให้ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศ ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกระทรวงแรงงานเสนอ โดยอนุมัติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ ที่อัตรา 8-22 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้นต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท/วัน และเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 354 บาท/วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 หลังจากไม่มีการปรับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประกอบด้วย 9 อัตรา

- ค่าแรง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต

- ค่าแรง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

- ค่าแรง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา

- ค่าแรง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา

- ค่าแรง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี ค่าแรง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก

- ค่าแรง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี

- ค่าแรง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร

- ค่าแรง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี

เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีค่าครองชีพไม่เท่ากัน ส่งผลให้การคำนวณการจ่ายค่าแรงตามเขตพื้นที่ตามความเหมาะสม ปรับ 5 % ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างอยู่รอด สำหรับการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 ในครั้งนี้มีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท คิดเป็น 5.02% โดยเป็นความเห็นชอบจาก 3 ฝ่าย คือ ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ พร้อมกันคณะกรรมการค่าจ้างได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลมีการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ เพื่อนำเรื่องนี้เสนอ ครม. พิจารณามอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น