วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565

การสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม

 

โลกเราปัจจุบันกำลังดำเนินไปในทิศทางที่แปลกๆ ท่านจะเห็นโลกที่เต็มไปด้วยการทำลายล้างและใช้ความรุนแรง และความสามารถพิเศษของความรุนแรง ก็คือการสร้างความเกลียดกลัวระหว่างผู้คน

แต่ฉันคือผู้ที่มีความเชื่อในสันติวิธี และขอพูดว่าสันติภาพและความสงบสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้ในหมู่มวลมนุษย์บนโลกนี้ จนกว่าสันติวิธีจะได้รับการปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะว่าสันติวิธี คือความรักและช่วยกระตุ้นความกล้าหาญให้กับผู้คน...

            บทความนี้พยายามมุ่งทบทวนแนวคิดทฤษฎี ตลอดจนคำสอนเชิงคุณค่าของศาสนาอิสลาม เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม Mohammed Abu-Nimer[2] (2003; 2008) ได้สังเคราะห์งานเขียนเกี่ยวกับความรุนแรง สันติวิธีและการสร้างสันติภาพในทัศนะอิสลามไว้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ โดยทำการศึกษาจากนักวิชาการทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม และได้สรุปเป็นกรอบคิดทฤษฎีเกี่ยวกับหลักการสร้างสันติภาพ และสันติวิธีในมุมมองของศาสนาอิสลาม ดังนั้น บทความนี้ จึงแบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

ก่อนที่จะนำเสนอหลักการพื้นฐานของอิสลามที่เชื่อมโยงกับการจัดการความขัดแย้งและแนวทางสันติวิธี  จำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะ และนิยามความหมายของการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในทัศนะอิสลาม รวมทั้งสมมติฐานที่อธิบายโดยนักวิชาการ และนักปฏิบัติการสันติวิธีทั้งหลาย คือ

ประการแรก ต้องเข้าใจอย่างชัดเจนถึงศักยภาพของศาสนาอิสลามว่าอุดมด้วยเมล็ดพันธุ์มากมาย ในการจัดการความขัดแย้งทางสังคม และทางการเมืองได้อย่างสันติ ในคัมภีร์และคำสอนของศาสนาตลอดจนจริยวัตรของท่านนบีมุฮัมหมัด(ซ.ล.) ในยุคต้นของอิสลามเป็นแหล่งบรรจุคุณค่า ความเชื่อ และยุทธวิธีมากมายในการสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิถีทางตามแนวสันติวิธี และมีอิทธิพลทางอุดมการณ์ความคิดเป็นแบบอย่างให้มุสลิมได้ยึดถือดำเนินต่อมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ดังมีตัวอย่างการสร้างสันติภาพและใช้สันติวิธีในวิถีอิสลามจนเป็นที่ประจักษ์ชัดมากมายในหลายๆ สังคม

ประการที่สอง การทำความเข้าใจการสร้างสันติภาพ และสันติวิธี ในวิถีอิสลาม นักวิชาการและนักปฏิบัติการสันติภาพ มุสลิมจำเป็นต้องทบทวน และประเมินความเข้าใจอิสลาม ในท่ามกลางบริบทของความหลากหลายในช่วงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องตระหนักว่าในคำสอนของอิสลามนั้น มีการตีความอย่างแตกต่างหลากหลายในหมู่นักวิชาการมุสลิมตามแต่ละประเทศ วัฒนธรรมและสำนักคิด

ดังนั้น ความรู้และการตีความไม่ควรถูกมองว่า เป็นเพียงความเข้าใจของกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ซึ่งไม่ได้สลักสำคัญแต่ประการใด หากการตีความและแบบแผนทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพ และสันติวิธีเหล่านั้น ย่อมมีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเข้าถึงความหมายของอิสลามอย่างแท้จริง

ประการที่สาม มีมุสลิมจำนวนมาก ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม รวมทั้งการเข้าถึงความหมายที่เกี่ยวโยงกับการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งโดยสันติวิธี ผ่านคุณค่าคำสอนเกี่ยวกับสันติภาพ นักวิจัยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ที่สนใจประเด็นอิสลามกับความขัดแย้ง ไม่เพียงแต่เป็นพวกนักบูรพคดีศึกษา หรือแม้แต่นักวิชาการมุสลิมเองก็พุ่งเป้าการศึกษาไปที่การทำสงคราม การใช้ความรุนแรง อำนาจ และระบบการเมืองหรือกฎหมาย มุมมองเหล่านี้ ทำให้แนวการศึกษาอิสลามออกมาในด้านลบ โดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการจากโลกตะวันตก

ประการที่สี่ ถึงแม้ว่าอิสลามมีคำสอน และการปฏิบัติอันหลากหลายเกี่ยวกับความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ แต่คำสอนที่ถูกนำไปใช้จริงนั้นย่อมขึ้นกับความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้ง เช่น เป็นความขัดแย้งในระดับใด ระดับบุคคล ครอบครัว หรือชุมชน เป็นความขัดแย้งระหว่างมุสลิมด้วยกัน หรือกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คำสอนอิสลามได้เป็นแหล่งคุณค่าของการสร้างสันติภาพ และหากได้มีการประยุกต์ให้เป็นไปอย่างมีระบบและต่อเนื่องแล้วย่อมสามารถช่วยจัดการความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในแทบทุกรูปแบบและทุกระดับ ดังเช่น คุณค่าเกี่ยวกับความยุติธรรม (adl) คุณธรรมความดีงาม (ihsan), และการใช้วิทยปัญญา (hikmah) ล้วนเป็นคุณค่าสากลที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกรอบคิดและยุทธวิธีในการสร้างสันติภาพ

การขยายการตระหนักรู้และข้อสมมุติฐานทั้ง 4 ประการข้างต้นในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลามสามารถช่วยนักวิจัยที่สนใจทั้งผู้เป็นมุสลิม และไม่ใช่มุสลิมในการเพิ่มพูนความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดและการปฏิบัติของสันติวิธี การสร้างสันติภาพ กับประเพณีวัฒนธรรมและศาสนาอิสลาม นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือ การตระหนักดังกล่าวจะสามารถช่วยลดภาพลบของสังคมมุสลิม และศาสนาอิสลามทั้งในแวดวงสาธารณะโดยทั่วไปตลอดจนในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยขจัดการเหมารวมเกี่ยวกับวิธีคิด ความเชื่อ และชีวิตความเป็นอยู่ตามวิถีอิสลาม

และประการสุดท้าย การคำนึงถึงข้อสมมุติฐานเหล่านี้ จะช่วยให้นักวิจัยก้าวพ้นการสรุปอย่างลวกๆ ในการตีความในคำสอนของอิสลามในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน และจากแบบอย่างคำสอนและการปฏิบัติของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) หรือ อัสซุนนะฮ์ โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทแวดล้อมทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง ตลอดจนแรงกดดันทางวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนทั้งผู้เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

การศึกษาเกี่ยวกับสงครามและการญิฮาด

เป็นที่น่าเสียดายที่งานศึกษาในยุคปัจจุบัน เกี่ยวกับสงครามและการญิฮาดได้พยายามสร้างสมมุติฐานว่า ศาสนาอิสลามมีลักษณะเฉพาะที่เอื้อต่อการยอมรับในการทำสงคราม และการใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้ง นักวิชาการบางท่านในกลุ่มนี้ได้โต้แย้งว่า อิสลามเป็นศาสนาแห่ง “สงคราม” และความรุนแรงเป็นหลักการพื้นฐานในประเพณีศาสนาอิสลาม นักวิชาการในกลุ่มนี้ทุกคนเห็นว่าการไม่ใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธีนั้นเป็นแนวคิดที่ห่างไกลจากหลักคำสอนอิสลาม

นักวิชาการกลุ่มนี้มักสรุปอย่างเกินจริง และตกอยู่ในกับดักแนวคิดหลักการ “ญิฮาด” ในอิสลาม โดยอ้างว่าการญิฮาดด้วยการใช้ความรุนแรง เป็นวิธีการสำคัญสำหรับมุสลิมในการสถาปนาความแตกต่างทั้งภายในและภายนอก นักวิชาการรวมทั้งนักกำหนดนโยบายในกลุ่มนี้ จึงติดกรอบการใช้มุมมองการญิฮาดในการอธิบายเติบโตของกลุ่มขบวนการมุสลิม ที่นิยมความรุนแรงและมีทัศนคติว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังบังคับโดยรัฐบาลและขบวนการทางศาสนา

การศึกษาเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ  

นักวิชาการกลุ่มนี้ซึ่งอาจเรียกว่าคือ กลุ่ม “สงครามและสันติภาพ” จะมีมุมมองต่างไปจากกลุ่มญิฮาด โดยมีสมมุติฐานว่า ศาสนาอิสลามให้ความชอบธรรมต่อการใช้กำลังและความรุนแรงภายใต้บริบทที่จำกัดเท่านั้น ไม่สามารถใช้กำลัง และความรุนแรงได้อย่างไร้ขอบเขต นักวิชาการกลุ่มนี้จึงได้เน้นไปที่เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่อิสลามอนุญาตให้ใช้กำลังและความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งหรือเมื่อเผชิญหน้ากับผู้อื่น โดยนักวิชาการกลุ่มนี้อ้างอิงถึงคำสอนในคัมภีร์ อัล-กุรอ่านที่ว่า “สำหรับบรรดาผู้ (ที่ถูกโจมตีนั้น) ได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้ เพราะพวกเขาถูกข่มเหง และแท้จริงอัลลอฮ์ทรงสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างแน่นอน” อัล-กุรอ่าน (22:39)

และพวกเจ้าจงต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกรานแท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้รุกราน” อัล-กุรอ่าน (2:190)

นักวิชาการกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญอย่างมากกับการต่อสู้ เพื่อความยุติธรรม และการต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นเป็นเพียงวิธีการเพื่อการบรรลุเป้าหมายสู่ความยุติธรรม ดังนั้น สันติวิธีจึงมีความสำคัญในลำดับรองลงมา

มีนักวิชาการหลายท่านในกลุ่มนี้พยายามตีความอย่างเป็นกลางในคำสอนของอิสลามเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ แต่ทุกคนต่างยึดในกรอบคิดเกี่ยวกับความมั่นคง สงครามและยุทธศาสตร์ศึกษา หรือจากมุมมองอิสลามศึกษาในยุคคลาสสิค แทนที่จะวางบนพื้นฐานทางสันติศึกษา จึงทำให้นักวิชาการกลุ่มนี้มองการต่อสู้โดยสันติวิธี และการไม่ใช้ความรุนแรงว่า เป็นสภาวะของการยอมจำนนต่อศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม พวกเขาจึงให้คำนิยามสันติวิธีอย่างจำกัด และสรุปว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ไม่สามารถต่อต้านการใช้ความรุนแรงได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักวิชาการกลุ่มนี้จะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า การทำสงคราม เป็นสิ่งที่อนุมัติเพื่อเป็นการปกป้องตนเองและรัฐ แต่ก็ยอมรับว่าอิสลามห้ามการทำสงครามเพื่อการรุกราน ขยายดินแดนหรือเพื่อเป็นการอวดศักดิ์ดาเกียรติภูมิของตนเอง พวกเขาเสนอว่าการปฏิเสธการใช้ความรุนแรงโดยปราศจากเงื่อนไขนั้นเป็นการละเลยคำสอนของอิสลามที่ว่า “การสู้รบนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว ทั้งๆ ที่มันเป็นที่รังเกียจแก่พวกเจ้า และอาจเป็นไปได้ว่า การที่พวกเจ้าเกลียดสิ่งหนึ่งทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งดีแก่พวกเจ้า และก็อาจเป็นไปได้ว่าการที่พวกเจ้าชอบสิ่งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งเลวร้ายแก่พวกเจ้าและอัลลอฮ์นั้นทรงรู้ดี แต่พวกเจ้าไม่รู้  อัล-กุรอ่าน (2; 216)

โดยสรุป นักวิชาการกลุ่ม “สงครามและสันติภาพ” อาจถูกวิจารณ์ได้ว่าละเลยคำสอนส่วนที่เน้นถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตมนุษย์ในทัศนะอิสลามแต่กลับหยิบยกบางตอนของคำสอน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ซึ่งการวิจารณ์เช่นนั้นเปรียบประหนึ่งเป็นการนิยามสันติวิธีในเชิงคับแคบว่าเป็นการต่อต้านต่อการใช้ความรุนแรง  พวกเขาเห็นว่าการมองว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ปฏิเสธการทำสงครามนั้นเป็นเรื่องความเข้าใจที่ผิด ดังนั้น จึงไม่ควรเน้นที่ว่าคำสอนของศาสนาอิสลามให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการใช้สันติวิธีหรือไม่ แต่ควรต้องพิจารณาถึงคำถามที่ว่า การใช้สันติวิธี ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร จึงจะช่วยให้มุสลิมได้รักษาความยุติธรรมในสังคม

ยุคสมัยของประวัติศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้น การใช้ความรุนแรง ในฐานะเป็นวิถีทางในการแก้ไขปัญหา จึงเป็นสิ่งที่ศาสนาไม่ยอมรับอีกต่อไป สิ่งที่มุสลิมได้เคยใช้ในการสถาปนาและแพร่กระจายความศรัทธา เมื่อพันสี่ร้อยกว่าปีที่แล้ว อาจไม่ได้มีความเหมาะสมกับสภาพความจริงในโลกปัจจุบันอีกต่อไป ดังนั้น หากประเพณีและวัฒนธรรมอิสลามจะเฟื่องฟู และเจิดจรัสอีกครั้งได้นั้น ทั้งผู้นำและมุสลิมโดยทั่วไปจะต้องรับเอาสันติวิธีเป็นวิถีแห่งชีวิตที่บ่งบอกถึงความแตกต่างของตนเอง

อิสลามที่ประณามการใช้ความรุนแรงและการทำสงคราม รวมทั้ง เน้นการใช้ความรักความเมตตาและความอดกลั้น ดังปรากฎในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ว่า “ทุกครั้งที่พวกเขาจุดไฟขึ้นเพื่อทำสงคราม อัลลอฮ์ก็ทรงดับไฟนั้นเสีย และพวกเขาเพียรพยายามบ่อนทำลายในผืนแผ่นดิน และอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงชอบผู้บ่อนทำลายทั้งหลาย” อัล-กุรอ่าน (5: 64) 

แท้จริงอัลลอฮ์ทรงใช้ให้รักษาความยุติธรรมและทำดี  อัล-กุรอ่าน (16: 90)

            จากประวัติชีวิตของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ในช่วงที่ท่านอาศัยอยู่ในเมืองมักกะฮ์เป็นเวลาถึง 13 ปี เพื่อการทำหน้าที่ในการเผยแพร่คำสอนของอิสลาม ท่านได้แสดงให้เห็นถึงการหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบแม้กระทั่งเพื่อการปกป้องตัวเอง ท่านกลับใช้การต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อชาวมักกะฮ์ที่คอยกดขี่ชาวมุสลิมอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงที่จะต่อสู้แบบเผชิญหน้า จนในที่สุดท่านเลือกที่จะอพยพไปอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์ ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปอีกหลายร้อยกิโลเมตร

            นอกจากนั้น ในอิสลามยังสนับสนุนให้ใช้การเจรจาต่อรอง เพื่อยุติความขัดแย้งในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์แรกๆ

การสร้างสันติภาพเพื่อลดความขัดแย้ง

การสื่อสารกันแบบตัวต่อตัวในท่ามกลางความขัดแย้งนั้น ย่อมมีผลดีกว่าการละเลยปัญหา หรือใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา การเจรจาสื่อสารกันจึงเป็นการช่วยลดความขัดแย้งที่รุนแรงลงได้และช่วยแสดงออกถึงความเสียใจที่เคยกระทำไปโดยทุกฝ่าย ในที่นี้ ผู้เป็นคนกลางมีบทบาทสำคัญในการเจรจาสร้างสันติภาพเพื่อลดความขัดแย้งอันอาจนำสู่การใช้ความรุนแรง

อิสลามสนับสนุนให้มุสลิมมีบทบาท และทำหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานขั้วขัดแย้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน “และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่า ฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ(สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้วพวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม(แก่ทั้งสองฝ่าย) เถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม   อัล-กุรอ่าน (49: 9)          

ดังนั้น จากคำสอนของอิสลามให้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยความก้าวร้าวรุนแรง และมีอคติระหว่างกัน จึงสอดคล้องและมีประสิทธิภาพตามหลักการของการสร้างสันติภาพ เพื่อลดความขัดแย้งที่จะนำสู่ความรุนแรง

การให้อภัย

อิสลามมีคำสอนเช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆ ในหลายศาสนา ที่ให้คุณค่าอย่างมากกับการรู้จักให้อภัยมากกว่าการมุ่งโกรธเกลียดเคียดแค้น และการตอบแทนความชั่วคือความชั่วเยี่ยงมัน แต่ผู้ใดอภัย และไกล่เกลี่ยคืนดีกัน รางวัลตอบแทนของเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ไม่ชอบบรรดาผู้อธรรม” อัล-กุรอ่าน (42: 40)

การให้อภัยเป็นวิถีที่ผู้คน (ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม) พึงมีต่อกันและกัน ดังที่คัมภีร์อัล-กุรอ่าน กล่าวไว้ว่า “เจ้า(มุฮัมมัด) จงยึดถือไว้ซึ่งการอภัย และจงใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และจงผินหลังให้แก่ผู้โฉดเขลาทั้งหลายเถิด” อัล-กุรอ่าน (7: 199) 

ความรับผิดชอบในการกระทำและการตัดสินใจ

อิสลามเป็นศาสนามองว่าการปฏิบัติเป็นสิ่งพิสูจน์ความศรัทธาของคนเป็นมุสลิม และมนุษย์ทุกคนจะต้องถูกสอบสวนในวันฟื้นคืนชีพและจะต้องรับผิดชอบในการกระทำทุกอย่างของตนเอง “ดังนั้นผู้ใดกระทำความดีหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน ส่วนผู้ใดกระทำความชั่วหนักเท่าละอองธุลีเขาก็จะเห็นมัน” อัล-กุรอ่าน (99: 7-8) 

กระบวนการมีส่วนร่วมและยอมรับซึ่งกันและกัน

การมีส่วนร่วมและเปิดใจยอมรับทุกฝ่ายย่อมเป็นผลดี และมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้อำนาจแบบเผด็จการ และปิดกั้นการตัดสินใจ ยุทธศาสตร์ในการสร้างสันติภาพวางอยู่บนพื้นฐานให้ทุกฝ่ายเข้าสู่การเจรจาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน หรืออาจใช้คนกลางช่วยดำเนินการในการไกล่เกลี่ย

อิสลามส่งเสริมให้มนุษย์เปิดใจกว้างมากกว่าที่จะมีจิตใจคับแคบ โดยใช้หลักความยุติธรรมแทนที่ความอยุติธรรม หลักการนี้สะท้อนได้ดีในระบบการปกครองแบบชูรอ(การปรึกษาหารือ) ความหมายของระบบชูรอ คือ ความสมานฉันท์ในสังคมที่เกิดจากการที่ทุกฝ่ายได้พูดคุยเสวนากันโดยอิสระอย่างแท้จริง แสดงความคิด ความเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยผู้ปกครองจะเก็บรวมรวมความเห็นหรือคำแนะนำทั้งหมดจากหมู่มวลสมาชิกเพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น