วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565

สังคมท้องถิ่น ความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่หายไป

สังคมมลายู ที่คนทั่วไปสนใจใคร่รู้จัก หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งรัฐพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ระยะเวลาผ่านไปเกือบ ๑๐ ปีแล้ว ใช้งบประมาณเป็นแสนล้าน ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการสูญเสียชีวิตของผู้คนอย่างต่อเนื่อง เกินกว่าจะประเมินค่าได้ แต่ดูเหมือนรัฐยัง “ไม่ถึง” และไม่เข้าใจเพียงพอเพื่อที่จะพยายามแก้ไขปัญหา เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบยังเกิดขึ้นไม่หยุดแต่อย่างใด

สังคมมลายู ที่คนทั่วไปรับรู้ส่วนใหญ่ เป็นสังคมที่อยู่แถบฝั่งตะวันออกติดทะเล ด้านอ่าวไทย ส่วนสังคมมลายู ที่อยู่ฟากตะวันตกที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ป่าดิบทึบ มีพื้นที่ราบเป็นหุบเล็กๆ ระหว่างเทือกเขาเป็นที่ตั้งบ้านเรือนชุมชนท้องถิ่นภายในที่อดีต มีอุปสรรคความยากลำบากในการเดินทางเข้าถึง เป็นดั่งสังคมปิด ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ แต่มีหลักฐานการก่อบ้านสร้างเรือนกว่า ๑๐๐ ปี เป็นสังคมที่รับการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาของรัฐสมัยใหม่ไม่ถึง ๓๐ ปีหลังมานี้เอง

สังคมมลายู ภายในเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีพัฒนาการมาจากการรวมกลุ่มชักชวนสมัครพรรคพวก ญาติพี่น้อง สำรวจพื้นที่ใหม่ เพื่อหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร สัตว์ป่า สมุนไพร บุกเบิกเปิดพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เพาะปลูก ลงหลักปักฐาน ก่อบ้านสร้างเรือนจนเกิดเป็นสังคมชุมชนท้องถิ่นต่างๆ จากรากพัฒนาการดังกล่าวทำให้สังคมมลายูเขตภายในนั้น ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเครือญาติเป็นสำคัญ

ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เป็นความสัมพันธ์ในแนวราบหรือมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นพื้นฐาน  มีการไปมาหาสู่กัน ช่วยเหลือกัน ลงแรงกันในการทำงาน โดยมีผู้อาวุโสในตระกูลเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ที่ทุกคนให้ความเคารพนับถือ สมาชิกในเครือญาติมีความรักสามัคคีกัน มีสำนึกความเป็นพี่น้องสูง พวกเขาสร้างสำนึกร่วมในการเป็นเครือญาติ เพื่อเป็นพลังในการต่อสู้เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในการดำรงชีวิต เพราะอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่มีอันตรายจากสัตว์ร้ายในป่า โรคภัยไข้เจ็บ และมีการบุกเบิกสูง จึงต้องใช้วิธีร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน

วิถีชีวิตเหล่านี้ีทำให้เกิดวัฒนธรรมและประเพณีแบบเฉพาะถิ่นขึ้นมา โดยมีผู้อาวุโสเป็นผู้ให้คำปรึกษา และคำแนะนำแก่สมาชิกในเครือญาติ

ต่อมา เมื่อรัฐมาจัดหน่วยปกครองในท้องถิ่น มีโครงสร้างการปกครองแบบใหม่ มีตำแหน่งผู้นำแบบรัฐ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นตัวแทนของรัฐในการปกครองท้องถิ่น แรกเริ่มรัฐ ได้แต่งตั้งโดยเอาผู้ที่สายตระกูลเสนอมา รัฐได้ให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้อย่างมาก เพื่อให้คนในท้องถิ่นยอมรับโครงสร้างใหม่นี้

จากโครงสร้างความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ที่เป็นโครงสร้างแนวราบค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์แนวดิ่ง ที่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ซึ่งคือสมาชิกเครือญาติของตน ตำแหน่งตัวเชื่อมระหว่างรัฐกับชาวบ้านนั้น ได้อำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้อย่างมาก เพราะได้ประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณจากรัฐ ประโยชน์จากการเข้าถึงทรัพยากรที่รัฐกำกับดูแลก่อนคนอื่น ประโยชน์จากกลุ่มทุนภายนอกต่างๆ ที่จะเข้ามา

จากองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้เกิดโครงสร้างแบบใหม่ซ้อนโครงสร้างแบบเดิมทั้งสองแบบ คือโครงสร้างจารีต เครือญาติอยู่ภายในโครงสร้างแบบรัฐ ซึ่งสมาชิกใหม่ที่ประกอบด้วยตัวแทนเครือญาติ รัฐ นายทุน แต่โครงสร้างแบบใหม่มีงบประมาณมากกว่าเดิม แต่มีขีดจำกัดการจัดสรรผลประโยชน์ ที่ไปไม่ถึงชาวบ้านทุกคน จนมีคำพูดในร้านน้ำชาว่า กำนันอยู่หมู่บ้านไหน หมู่บ้านนั้นเจริญ เพราะกำนันจะจัดสรรงบประมาณ ถนน ไฟฟ้า ประปา ที่หมู่บ้านตนเองก่อน ญาติพี่น้องกำนันจะได้ทำงานดีๆ ตามสถานที่ราชการ เป็นต้น

มาดูตัวอย่างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบตัดขวางของชุมชนท้องถิ่นมลายูในเขตภูเขาแห่งหนึ่ง ช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๐ นั้น เขตภูเขาภายในเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มอิทธิพลต่างๆ ในท้องถิ่นทั้ง PULO, BRN, BNPP COMMUNISMALAYA ต่างหมดพลังลง เหลือเพียงอำนาจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในท้องถิ่นผลประโยชน์ต่างๆ เช่น การตัดไม้ตะเคียน การเปิดป่าจับจองที่ดิน ธุรกิจซื้อผลไม้ ลองกอง เงาะ ทุเรียน  ธุรกิจไม้ยางพารา ทุกอย่างต้องเสียค่าผ่านทางแก่ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น แต่ละวันมีเงินถูกจ่ายออกไปเป็นจำนวนมากเพื่อการคุ้มครอง เหล่านี้

มีเรื่องเล่าว่า หากใครมายะลาแล้ว ตกรถกลับบ้านไม่ได้ ก็ให้ไปดักรอคนรู้จักหน้าโรงแรม เป็นต้องพบคนในท้องถิ่น ที่รู้จักขอติดรถกลับบ้านได้ บางคืนพวกเขาแข่งกันให้ทิปนักร้องคืนละหมื่นสองหมื่น แต่ก็มีบางคนนำเงินไปลงทุนซื้อที่ดินในตลาด ซื้อสวนยางพาราบ้าง เป็นตัวอย่างผู้นำท้องถิ่นแบบรัฐ ที่มีเงินมากในสมัยนั้น และผลผลิตข้ามวัฒนธรรมอีกอย่างคือ ชุมชนท้องถิ่น ที่ห่างไกลนี้มีสะใภ้เป็นคนจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่พวกเขาไปรู้จักที่ห้องอาหารในตัวเมือง พฤติกรรมของผู้นำสมัยนั้น ได้เกิดผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว สถาบันเครือญาติ และสถาบันสังคม เปลี่ยนวิธีการเคารพนับถือผู้นำในท้องถิ่น เปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ ในอดีตที่สั่งสมมาว่าเครือญาติเป็นเสมือนพี่น้องกัน ต้องช่วยเหลือกัน มีอันสั่นคลอนหายไป

ประโยชน์ที่เห็นได้ของการดำรงตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำแบบรัฐ ทำให้คนรุ่นต่อไปมีความปรารถนา ต้องการดำรงตำแหน่งที่ให้ประโยชน์อย่างนั้นด้วย จึงเกิดการแข่งขันในหมู่พี่น้องเครือญาติอย่างรุนแรง บ้างพี่น้องกัน บ้างนามสกุลเดียวกัน บ้างลูกพี่ลูกน้องกัน สะท้อนถึงความแตกแยกต่อความสัมพันธ์แบบเดิม ที่เคยเป็นฐานการขับเคลื่อนสังคมชุมชนท้องถิ่น

คนในสังคม เริ่มลังเลสงสัยต่อความหมายของผู้นำแบบรัฐในท้องถิ่นว่าคือใคร ผู้ที่เป็นตัวแทนคนในท้องถิ่นต่อรัฐ หรือผู้ที่เป็นตัวแทนของรัฐต่อท้องถิ่น หรือผู้ที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสายตระกูล ที่มีการสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือด การเลือกตั้ง ทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกในท้องถิ่นอย่างรุนแรง สังคมท้องถิ่นที่มีทุนทางปัญญาสูง ก็สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านั้นได้ แต่ในสังคมท้องถิ่นที่มีทุนทางปัญญาต่ำ คนในท้องถิ่นก็ต้องทน อยู่ในวังวนวิถีอำนาจที่ครอบงำสังคมท้องถิ่นต่อไป

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียน เห็นจากสังคมท้องถิ่นที่ใช้เป็นปัญญาในการก้าวข้ามความขัดแย้งนั้นได้คือ การสร้างสำนึกใหม่ต่อคนในท้องถิ่น ไม่ใช่สำนึกเครือญาติที่ไม่สามารถสร้างความกลมเกลียวอยู่ได้ในสมัยปัจจุบัน ไม่ใช่สำนึกอุดมการณ์ ที่คนในท้องถิ่นตีความไม่เหมือนกัน แต่เป็นสำนึกชุมชนท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีเป้าหมายการขับเคลื่อนสังคมท้องถิ่นที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่นตัวอย่างหลายๆ ท้องถิ่นที่ผู้นำ มาจากผู้ที่มีความเสียสละ สร้างความสัมพันธ์กับคนทางแนวราบ

จากตัวอย่างความสำเร็จในการก้าวข้ามความขัดแย้งดังกล่าว น่าจะเป็นหนทางหนึ่ง สำหรับหน่วยงานของรัฐ ที่ดูแลรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ควรศึกษาทำความเข้าใจต่อสังคมมลายูอย่างแท้จริง มากกว่าหยิบยกข้อความ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาพูดกันอย่างลอยๆ

“...โดยที่พวกเขามีหัวใจ ซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจ และพวกเขามีตา ซึ่งพวกเขาไม่ใช้มอง และพวกเขามีหู ซึ่งพวกเขาไม่ใช้ฟัง ชนเหล่านี้แหละประดุจปศุสัตว์...” อัลกรุอาน ๗ : ๑๗๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น