วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2565

แตกต่างแต่ไม่แตกแยก

 

มีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุน ให้มีการจัดการศึกษาอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มของเด็กข้ามชาติ และยังต้องเพิ่มเติมทักษะในการเป็นพลเมืองโลก ตลอดจนการสร้างความเคารพในความแตกต่าง หลากหลาย

วัชระพงษ์ฯ วัย 16 ปี อาศัยอยู่ในบ้านไม้หลังเล็กริมฝั่งแม่น้ำเมย ติดชายแดนไทย-เมียนมา ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พ่อและแม่ชาวเมียนมาของเขาทำงานรับจ้างอยู่ในฝั่งเมียนมา ส่วนน้องสาววัย 15 ปี ของเขามีอาชีพเป็นบริกรอยู่ในคาสิโนที่นั่น ทุก ๆ วันวัชระพงษ์ฯ และอารยาฯ น้องสาวอีกคนหนึ่งวัย 12 ปี จะเดินเท้าราวครึ่งชั่วโมง เพื่อมายังโรงเรียนบ้านท่าอาจ ซึ่งเป็นโรงเรียนบัฟเฟอร์ สคูล ที่จัดการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน โดยเน้นการเรียนการสอนภาษาอาเซียนหนึ่งภาษา ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนจะตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ใด สำหรับกรณีของโรงเรียนบ้านท่าอาจนี้ จึงเป็นภาษาเมียนมา

ลักษณะเฉพาะ ของโรงเรียนบ้านท่าอาจ คือแม้จะตั้งอยู่ในแผ่นดินไทย แต่ 88 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมดกลับเป็นชาวเมียนมา “ครอบครัวย้ายมาอยู่ที่นี่ราว 14 ปีก่อน เพราะเศรษฐกิจที่เมียนมา ไม่ดี” วัชระพงษ์ฯ กล่าว

เขาเป็นเด็กหนุ่มร่างเล็ก เมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน “ผมยังจำวันแรกที่เข้ามาเรียนที่นี่ได้ วันนั้นผมใส่ชุดอยู่บ้านไปเพราะไม่มีชุดนักเรียน และไม่เข้าใจสิ่งที่ครูพูดเลยแม้แต่คำเดียว เพราะผมไม่เข้าใจภาษาไทย”

วัชระพงษ์ฯ เป็นหนึ่งในเด็กนักเรียนกว่า 13,600 คน ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับการศึกษาอยู่ในโรงเรียนรัฐบาล ภายใต้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 ข้อมูลสถิติของรัฐบาลระบุว่า ที่นี่มีเด็กนักเรียนที่ไม่ได้สัญชาติไทยถึง 28.5 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด ที่เป็นเช่นนี้ เพราะจังหวัดตาก ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีผู้อพยพเข้ามาอาศัย และทำงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีพื้นที่ฝั่งตะวันตกอยู่ติดกับชายแดนเมียนมา มีข้อมูลจากกรมการปกครองในปี พ.ศ. 2559 ระบุว่า มีประชากรมากกว่า 102,000 คน หรือประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย จากจำนวนประชากรในจังหวัดทั้งหมดกว่า 632,000 คน

เมื่อพิจารณาถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายในโรงเรียน และความท้าทายด้านการศึกษา ที่เด็กนักเรียนข้ามชาติเหล่านี้ต้องเผชิญ ทำให้ตระหนักได้ว่า การยอมรับในความแตกต่าง และความหลากหลายของตัวตนทั้ง วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา เพศ ตลอดจนความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จัดเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กทุกคน

“ยูนิเซฟ เล็งเห็นถึงความจำเป็น ที่จะต้องสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของเด็กข้ามชาติ และยังต้องเพิ่มเติมทักษะในการเป็นพลเมืองโลก ตลอดจนการสร้างความเคารพในความแตกต่าง หลากหลาย โดยเฉพาะในขณะนี้ที่เราเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน” ดร.รับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาศ เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว

องค์การยูเนสโก ให้คำจำกัดความของความเป็นพลเมืองโลกไว้ว่า คือความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่กว้างขึ้น รวมถึงการมีบทบาทที่เกี่ยวข้องในฐานะสมาชิกของสังคมทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศและระดับโลก นั่นหมายรวมถึงใจที่เปิดกว้างยอมรับต่อผู้คนต่างวัฒนธรรม ความเคารพในวัฒนธรรมของผู้อื่นและเห็นคุณค่าในความแตกต่างของมนุษย์ ความเป็นพลเมืองโลก นับเป็นส่วนสำคัญของทักษะที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่กับการใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 ในวันที่โลกแห่งความแตกต่างถูกเชื่อมโยงกันอย่างไร้พรมแดน

องค์การยูนิเซฟ เริ่มทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ด้วยการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสหภาพยุโรป ในการจัดกิจกรรม เพื่อพัฒนาและบูรณาการทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นพลเมืองโลก รวมถึงบรรจุแนวคิดการเคารพในความแตกต่าง หลากหลาย ไว้ในวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จุดเริ่มต้นดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่จะต่อเนื่องไปอีกหลายปี ระหว่างองค์การยูนิเซฟ สหภาพยุโรป รัฐบาลไทย และภาคประชาสังคม ที่จะปกป้องเด็กซึ่งได้รับผลกระทบจากจากอพยพย้ายถิ่นฐาน ผ่านการผลักดันให้เกิดนโยบายที่เข้มแข็ง การสร้างทัศนคติทางสังคม และการดูแลเด็กข้ามชาติและเด็กพลัดถิ่นในประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างนโยบาย บริการ ทัศนคติทางสังคม และการปฏิบัติต่อเด็กข้ามชาติและเด็กไร้สัญชาติที่ดีขึ้น

โครงการนำร่อง ได้เริ่มต้นที่โรงเรียนรัฐบาล 5 แห่งในเขตอำเภอแม่สอด แม่ระมาด และท่าสองยาง ได้แก่ โรงเรียนบ้านท่าอาจ โรงเรียนบ้านห้วยม่วง โรงเรียนบ้านแม่กุเหนือ โรงเรียนบ้านต้นผึ้ง และโรงเรียนบ้านแม่สลิดหลวงวิทยา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนบัฟเฟอร์ สคูล ที่เริ่มต้นส่งเสริมทักษะดังกล่าวให้แก่เด็กนักเรียนมาแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ซึ่งผลที่ได้รับล้วนเป็นที่น่าพอใจ

“ด้วยการเรียนรู้ ทักษะ ค่านิยมและทัศนคติที่ดีในความเป็นพลเมืองโลก รวมถึงการเคารพในความหลากหลาย นักเรียนจากต่างวัฒนธรรมและพื้นเพ จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียวโดยปราศจากการแบ่งแยก” วรปรัชญ์ อินต๊ะสุข วัย 40 ปี ครูสอนวิชาสังคมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนบ้านท่าอาจ กล่าว

เณริศา พสุกลมาศ ครูโรงเรียนบ้านแม่กุเหนือ กล่าวว่า การนำแนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองโลก บรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอน เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ไม่ใช่เพียงแค่กับโรงเรียนในจังหวัดตากเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีทั้งนักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติเรียนร่วมกันด้วย “หลักสูตรที่จะนำไปใช้ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในจังหวัด ซึ่งมีความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติและพื้นฐานทางสังคมนั้น จะช่วยเชื่อมโยงความต่างและก่อเกิดเป็นความกลมเกลียวในสังคมได้”

ในความคิดเห็นของ ด.ช.ธนากร บัวตูม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 วัย 14 ปี จากโรงเรียนบ้านห้วยม่วง เขาคิดว่าการทำกิจกรรม ในโรงเรียนช่วยให้เขาเข้าใจหนึ่งในคุณค่าที่สำคัญ นั่นคือ ‘ความเท่าเทียมกัน’ “ผมคิดว่านักเรียนไทยก็เหมือนกับนักเรียนเมียนมา เราเป็นคนเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องดูถูกเหยียดหยามพวกเขา ก็เหมือนกับคนรวย และคนจนที่สามารถเป็นเพื่อนกันได้ทั้งนั้น”

องค์การยูนิเซฟ กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ ที่จะนำโครงการดังกล่าวขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ครอบคลุมทั้งเมืองหลวงและในชนบทที่มีการรับนักเรียนข้ามชาติเข้าศึกษาร่วมกันในโรงเรียน

“สิ่งเหล่านี้ จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความกลมเกลียว ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนที่เข้าใหม่รวมถึงนักเรียนข้ามชาติสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้เกิดความสงบสุขในสังคมได้อีกด้วย” ดร.รับขวัญกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น