วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

การสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์เพื่อสกัด Fake News

 

📌📌การสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์เพื่อสกัด Fake News

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “อินเตอร์เน็ต” ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ที่ทำให้รูปแบบของการสื่อสารเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นยุคแห่งการสื่อสารไร้พรมแดนนำไปสู่การเกิดเครือข่ายสังคมใหม่ที่เรียกว่า “เครือข่ายสังคมออนไลน์” (Social Network) เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะที่สมาชิกทุกคน ทุกเพศสภาพ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติและศาสนา ทุกระดับการศึกษา ทุกสาขาอาชีพ เป็นผู้สื่อสารหรือเขียนเล่าเนื้อหาเรื่องราว ประสบการณ์ บทความ รูปภาพ และวิดีโอ ที่สมาชิกเขียนและทำขึ้นเองหรือพบเจอจากสื่ออื่น ๆ แล้วนำมาแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่อยู่ในเครือข่ายของตนผ่านสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) ในขณะที่ข่าวปลอมหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจำนวนมากมาจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยเงียบที่สร้างความสูญเสียและผลกระทบมากโดยเฉพาะกับความมั่นคง ดังนั้นการเสริมสร้างสร้างภูมิคุ้มกันให้รู้เท่าทันสื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสื่อสังคมออนไลน์ และมีความตระหนักรู้ในการใช้สื่อและสามารถวิเคราะห์ และประเมินสื่อจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับประชาชนและเป็นการป้องกันประชาชนจากภัยร้ายที่แฝงมากับสื่อสังคมออนไลน์

ยิ่งการที่มีคนบางกลุ่มที่ไม่หวังดี พยายามสร้างข่าวลวง (Fake News) ซึ่งอาจเป็นเพราะความเกลียดชัง สร้างความแตกแยก หรือหวังผลทางการเมืองทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้น ดังที่ข่าวสารต่าง ๆ ที่ถูกแชร์ออกมามากมายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน บ้างก็เป็นภาพที่บรรจงแต่งขึ้นมา บ้างก็เป็นข้อความ ซึ่งส่วนมากไม่มีการระบุแหล่งที่มาหรืออ้างแหล่งที่ผิดๆ จนหลายคนไม่รู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ ยิ่งล่าสุดในสถานการณ์การเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะเห็นรูปการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน หรือการนำภาพของผู้บังคับบัญชาของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ถูกแชร์ออกไป แต่มีการบิดเบือนข้อความเป็นการโจมตีให้ร้ายเจ้าหน้าที่และหน่วยงานความมั่นคง ว่ามีการการใช้อำนาจเกินกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการข้อความกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐขัดขวางการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในเรื่องการแต่งกายซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วเป็นภาพการปฏิบัติงานเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.  ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐนั้น มีเจตนาที่ดีและมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ มีการปฏิบัติงานตามขั้นตอน โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน มีความยุติธรรม รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงให้การส่งเสริม และสนับสนุนประชาชนทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนวิถีสังคมพหุวัฒนธรรมมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิต และแสดงออกความเป็นอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นตามหลักศาสนา

เราอยู่ในสังคมของการ Click, Like และ Share ผู้คนจำนวนมากเลือกคลิกข้อมูลต่างๆ ขึ้นมาอ่านอย่างผิวเผิน มีการกด Like ด้วยความชื่นชม และบางครั้งก็ส่งข้อมูลที่อ่านคร่าว ๆ เหล่านั้นแชร์ให้กระจายออกไป ถ้าสังคมมีความอ่อนแอขาดภูมิคุ้มกันไม่สามารถแยกแยะ “ข่าวจริง” กับ “ข่าวปลอม”ได้ ประชาชนจะบริโภคข้อมูลผิด ๆไป ทำให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์จะเป็นการเลือกรับข้อมูลข่าวสารและสกัด Fake News ได้ เพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีในการเผยแพร่ Fake News ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและสังคม ตลอดไปจนถึงความมั่นคง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น