วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สืบสาน “บุหงาซีเร๊ะ” วัฒนธรรมท้องถิ่นชาวมลายูภาคใต้

 

🚩🚩สืบสาน “บุหงาซีเร๊ะ” วัฒนธรรมท้องถิ่นชาวมลายูภาคใต้

บายศรี ใบพลู หรือ พานหมากพลู หรือ บุหงาซีเร๊ะ เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวมลายู โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะประกอบด้วยหลักใหญ่ คือ ใบพลู ซึ่งคนที่นี่จะเรียกว่า ซีเร๊ะ สำหรับใบพลู จะมีลักษณะเด่นเป็นรูปหัวใจ กินคู่กับหมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องที่อยู่ในขบวนแห่ขันหมาก พิธีสำคัญต่างๆ ซึ่งจะใช้รับ แขกบ้านแขกเมืองของชาวมลายูพื้นถิ่นที่นี่ตามคติความเชื่อ ใบพลูมีนัยยะที่แสดงออกถึงความรัก หมากจะมีความอ่อนในแข็งนอก ในส่วนของอุปกรณ์หลักๆ การจัดเตรียมการทำบุหงาซีเร๊ะ จะมีกระโจมไม้ไผ่ พาน ใบพลู ดอกไม้ ใบไม้ ที่จะนำมาใส่ในตัวกระโจมให้แน่น และประกอบต่อไปทีละชั้น ในชั้นของบุหงาซีเร๊ะ จะสื่อความหมายต่างๆ เช่น 3 ชั้น จะใช้ในงานเข้าสุหนัต งานแต่งงาน 7 ชั้น จะใช้รับแขกบ้านแขกเมือง 9 ชั้น จะใช้รับองค์เจ้าเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะนับเป็นเลขคี่ ส่วนความสวยงามของ บุหงาซีเร๊ะนั้น จะอยู่ที่การจัดเรียงใบพลูซ้อนกันเป็นชั้นๆ

เพื่อให้การเรียนรู้การทำบุหงาซีเร๊ะ อย่างถูกต้องตามหลักประเพณีโบราณและเรียนรู้องค์ความรู้ที่แฝงอยู่ในบุหงาซีเร๊ะ และร่วมอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คงอยู่สืบไป ทางอุทยานการเรียนรู้ยะลา จึง ได้จัดอบรม การทำบุหงาซีเร๊ะ ขึ้น เพื่อให้ประชาชน ได้ทราบถึงประเพณี และได้เรียนรู้ ศึกษาต่อยอดต่อไปในอนาคต อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิด สร้างความรักสามัคคีในชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งประชาชนทั่วไป รวมถึง ครูในพื้นที่ จ.ยะลา เข้าร่วมการอบรม

คุณครูจากโรงเรียนในพื้นที่ ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา บอกว่า ปกติจะทำไม่เป็น แต่มีความชอบ การทำบุหงาซีเร๊ะ พอได้มาเรียนรู้ก็มีขั้นตอน ที่ทำอยู่ก็ผิดๆ ถูก ๆ หลังจากทำเป็นแล้ว ก็จะได้นำความรู้ไปทำเวลามีกิจกรรมที่โรงเรียน รวมถึง จะได้ฝึกนักเรียนที่โรงเรียนด้วย

ส่วนประชาชนทั่วไป บอกว่า อยู่ในพื้นที่ 5 จชต.มาตลอดชีวิต สนใจ 3 วัฒนธรรมมาก เราคนจีนก็รู้เรื่องจีนแล้ว ไทยพุทธก็พอรู้แล้ว ส่วนอิสลามเราอยู่กับเค้ามาตั้งแต่เกิด รู้จักน้อยมากด้านวัฒนธรรม พอมีการสอนก็อยากจะรู้จัก จะได้ถ่ายทอดบอกลูกหลานต่อ อยู่ในสังคมเดียวกันเป็นเพื่อนกัน พหุวัฒนธรรมควรเรียนรู้ทั้งหมด

ทางด้านวิทยากร นายสมาน โดซอมิ ประธานศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง อ.รามัน จ.ยะลา บอกว่า บุหงาซีเร๊ะ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่ยุคปัตตานี หัวเมืองภาคใต้ มีการทำใบพลู เครื่องสูงของราชสำนักปัตตานี บายศรีใบพลูมีเอกลักษณ์เฉพาะ มลายูทางภาคใต้ ทางใต้ตอนบนแบบหนึ่ง ใต้ตอนล่างอีกแบบ มาเลย์อีกแบบ สามจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน ถิ่นปัตตานี ยึดหลักเมืองยะหริ่ง นราธิวาส อีกแบบ ส่วนยะลา ยึดถือทางราชสำนักรามัน

ซึ่งขั้นตอนการทำหลักการปฏิบัติของคนโบราณอยู่แล้ว อยู่ที่ 3 ชั้น 7 ชั้น 9 ชั้น การทำบายศรีใบพลู จะลงเลขคี่ เพราะความสำคัญของบายศรีใบพลู เป็นเครื่องมงคล ต่างๆ มลายูเรียกว่า ลายา 12 จะใช้หลากหลายงานพิธีสำคัญต่างๆ ทั้ง แต่งงาน เข้าสุหนัต ขึ้นเปล บ้านใหม่ สมัยโบราณ ขบวนแห่ขันหมาก แขกบ้าน แขกเมือง ของชาวมลายูพื้นถิ่น รวมถึงงานเมาลิด เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนโบราณเครื่องสูงใส่ในพาน ในถาด บายศรีใบพลูถือว่าความมงคล เครื่องประดับ 3 ชั้นสำหรับบุคคลทั่วไป 5 ชั้น ระดับขุนนาง 7 ชั้น ขึ้นไประดับเจ้าเมือง ขบวนแห่รับอาคันตุกะ

สำหรับในปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูการสอนทำบุหงาซีเร๊ะ ขึ้นมาใหม่ ทางสถาบันทางการศึกษาได้ให้ความสนใจนำเด็ก เยาวชน ไปเรียนรู้ รวมไปถึงกลุ่มแม่บ้านต่างๆ ก็เข้ามาเรียนกันแพร่หลายกันมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่แล้ว บางคนหากฝีมือดี มีความประณีต ก็สามารถนำไปทำเป็นอาชีพได้ ซึ่งการทำบุหงาซีเร๊ะ 3 ชั้น ราคาจะอยู่ที่ 700 บาท ส่วน 5 ชั้นก็จะตกอยู่ที่ 1,300 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น