วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

แนวคิดสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งในอิสลาม

 

เมื่อกล่าวถึงอิสลาม ในปัจจุบันนี้ เรามักจะมองโดยยึดติดกับมิติของความรุนแรง แม้ว่าอิสลามจะมีข้ออนุญาต ให้ใช้กำลังเพื่อยุติปัญหา แต่นั่นไม่ใช่มิติเดียวที่สามารถมองได้ หลักคำสอนของอิสลามยังเปี่ยมล้นด้วยสาระแห่งสันติภาพ และแนวทางการจัดการความขัดแย้ง ที่ปรากฏให้เห็นทั้งในตัวบทจากอัลกุรอานและแนวทางปฏิบัติของศาสนทูตมุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญ

สำหรับคำสอนที่ถูกต้องของศาสนาอิสลาม บทความชิ้นนี้ มุ่งตอบคำถามที่ว่า อิสลามมีแนวคิดสันติภาพและเน้นสันติวิธี เหนือกว่าการใช้ความรุนแรงจริงหรือไม่ และถ้าหากมีจะเป็นไปในลักษณะใด นอกจากนี้ยังตอบคำถามว่า แนวทางการจัดการความขัดแย้งในอิสลามเป็นอย่างไร และมีความสอดคล้องกับแนวทางการจัดการความขัดแย้ง ในปัจจุบันหรือไม่ ทั้งนี้บทความแสดงให้เห็นว่าอิสลามสอดคล้องกับสันติภาพ นับตั้งแต่มิติของการใช้คำต่างๆ ไปจนถึงหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวทางสันติวิธี ขณะเดียวกันแนวทางการจัดการความขัดแย้งที่มีในอิสลามยังมีความสอดคล้องกับแนวคิดการจัดการความขัดแย้งในกระแสหลักทั่วไป นับตั้งแต่การพูดคุยสานเสวนา การประนีประนอมไกล่เกลี่ยและการเป็นคนกลาง การกำหนดสนธิสัญญา หรือการตัดสินด้วยกฎหมายคำสำคัญ : การจัดการความขัดแย้ง อิสลาม มุฮัมมัด สันติภาพ กุรอาน

“ฉันจะมอบอาวุธให้กับคุณ ที่ไม่ว่าตำรวจหรือกองทัพใดๆ ก็ไม่สามารถต่อต้านได้นั่นคืออาวุธของท่านรอซูลมุฮัมมัด (ศ็อลฯ)1 ที่คุณไม่ได้ตระหนักถึง อาวุธชิ้นนี้คือความอดทนและความถูกต้องไม่มีอำนาจใดในโลกที่จะต่อต้านสิ่งนี้ได้... เมื่อคุณกลับไปที่หมู่บ้าน จงไปกระจายบอกต่อแก่ผู้คนว่ามีกองทัพของอัลเลาะห์ และอาวุธของกองทัพ นั้นคือความอดทน จงเรียกร้องให้ทุกคนมาร่วมกองทัพของอัลเลาะห์ อดทนต่อความยากลำบากทั้งหลาย หากคุณอดทนแล้ว ชัยชนะจะเป็นของคุณ” คำกล่าวของฆัฟฟาร์ข่าน (Ghaffar Khan) ชาวปุชตุน ที่ใช้บอกแก่ชาวบ้านเมื่อครั้งต่อสู้ต่อต้านกองกำลังโซเวียต (อ้างถึงใน Kadayifçi-Orlleana,2003, p. 58)

จากคำกล่าวข้างต้น อาจดูเหมือนว่า ไม่สามารถเกิดขึ้นกับมุสลิมในสมัยนี้ เมื่อกล่าวถึงอิสลาม ผู้คนมักจะนึกถึงแต่เพียงความรุนแรงและการใช้อาวุธ เนื่องจากพื้นที่ขัดแย้งในโลกยุคปัจจุบันล้วนแล้วแต่เกิดในพื้นที่ที่มุสลิม อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนทำให้ดูเหมือนว่ามุสลิมมา พร้อมกับความรุนแรง กระทั่งนำไปสู่ความกลัวอิสลาม หรืออิสลามโมโฟเบีย (Islamophobia) ที่แพร่กระจายออกไปทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะภายหลังจากเหตุการณ์ 9/11 การระเบิดใหญ่ในเมืองมุมไบและอิสตันบูล ที่ถูกกล่าวหา ว่าเป็นการกระทำของขบวนการเคลื่อนไหวอัลกออิดะฮฺ (Al-Qa’edah) ขณะเดียวกันภาพของการใช้อาวุธของมุสลิมเพื่อที่จะต่อต้านการรุกรานในหลายพื้นที่ เช่น ในปาเลสไตน์ ไปจนถึงการลุกฮือของประเทศอาหรับหรือ

Arab Spring ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะในประเทศซีเรียและอียิปต์ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ตอกย้ำวาทกรรม “ผู้ก่อการร้ายมุสลิม” หรือ “มุสลิมหัวรุนแรง” ให้เกิดแก่คนทั่วไป จนเข้าใจว่า ศาสนา อิสลามนั้นเป็นศาสนาที่สอนให้ใช้ความรุนแรง แต่ทว่าศาสนาอิสลามที่แท้จริงนั้นกลับตั้งอยู่บนรากฐานของการสนับสนุนความยุติธรรมและความเท่าเทียม ยึดหลักความเป็นสากลและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความสำคัญ ของชีวิตมนุษย์ชีวิตหนึ่ง เหตุผล ความรู้และความเข้าใจ

การให้อภัย การปฏิบัติที่เหมาะสมและมีคุณธรรม ความร่วมมือและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดจนการอดทน ยอมรับฟังผู้อื่น (Huda, 2010, p. xix)

อัตลักษณ์ส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นศาสนาเชื้อชาติ ภาษา หรือวัฒนธรรม ล้วนแล้วแต่สร้างชุดความคิดในการอธิบายตัวเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการแบ่งความคิดของความเป็น “พวกเรา” (Self/Us) และ “พวกเขา” (Other/Them) ซึ่งในส่วนนี้ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “ศาสนา” เป็นเครื่องมือที่มีพลังในการกำหนดความคิดและการกระทำได้มากกว่าปัจจัยทางอัตลักษณ์อื่น (Kadayifçi-Orlleana, 2003, p. 27)

ทั้งนี้ ศาสนาอาจถูกใช้เพื่อให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงหรืออาจเป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่ใช้ประกอบการดำเนินนโยบายเพื่อให้ได้แรงสนับสนุน จากประชาชนในแต่ละชุมชน แต่ในขณะเดียวกันศาสนาเองก็สามารถเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการสร้างสันติภาพ (Peace-building) โดยที่ประเด็นศาสนาจะนำมาซึ่งความรู้สึกร่วมของคู่ขัดแย้งบนฐานของคุณธรรม จิตใจและแก่นของศาสนาที่เน้นไปที่ความสงบสุขนั่นเอง 

ดังนั้นแล้ว สถาบันและตัวแสดงของศาสนาเป็นผู้แทนความเปลี่ยนแปลง (Agent of change) ที่สำคัญ ไม่ว่าจะด้วยการใช้บทบาทของการประนีประนอมหรือการให้ความรู้แก่สังคม (Kadayifçi-Orlleana,2003, p. 29)

อิสลาม ก็เช่นกันแม้ว่ากรอบของศาสนาอิสลามจะมีการอนุญาตในการทำสงครามในกรณีที่ต้องการให้การปลดปล่อยจากการถูกกดขี่และเพื่อป้องกันตนเอง ด้วยกับสภาพความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ ซึ่งในกรณีนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการต่อสู้เพื่อปกป้องตนเอง (Defensive War) แต่การต่อสู้ในลักษณะที่เริ่มเอง (Offensive War) ในสภาวะที่จำเป็นต้องใช้การสงครามเพื่อที่จะปลดปล่อยออกจากการถูกกดขี่ในบริบทของสังคมที่เป็นอยู่ก็เป็นแนวทางที่ปรากฏให้เห็น ภายใต้ขอบเขตที่กำหนด ดังในอัลกุรอาน (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ, 2556, หน้า 60, 199–200 และ 806) ได้ระบุว่า“และพวกเจ้าจงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺกับบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกราน แท้จริงอัลลอฮฺไม่ชอบบรรดาผู้รุกราน”(อัลบะเกาะเราะฮฺ:190)

“สำหรับบรรดาผู้ที่ถูกโจมตีนั้น ได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้เพราะพวกเขาถูกข่มเหง”(อัลฮัจญฺ: 39 )“และจงประหัต ประหารพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา และจงขับไล่พวกเขาออกจากที่ที่พวกเขาเคยขับไล่พวกเจ้าออก และการก่อความวุ่นวาย(ฟิตนะฮฺ)นั้นร้ายแรงยิ่งกว่าการประหัตประหารเสียอีก”(อัลบะเกาะเราะฮฺ:191)“มีเหตุใดเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ ที่พวกเจ้าไม่สู้รบในหนทางของอัลลอฮฺทั้งๆที่บรรดาผู้อ่อนแอไม่ว่าชาย หรือหญิง และเด็กๆต่างกล่าวกันว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเรา โปรดนำพวกเราออกไปจากเมืองนี้ซึ่งชาวเมืองเป็นผู้ข่มเหงรังแก”(อันนิสาอฺ:75 )

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรอบการทำสงครามข้างต้นนี้จะต้องอยู่บนฐานที่ไม่กระทบต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำสงคราม เช่น เด็ก คนชรา ทาส ผู้หญิง และนักบวช ผู้ทรงศีล รวมถึงสัตว์ต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี อิสลาม ยังมีการระบุถึงแนวคิดสันติภาพตลอดจนแนวทางสันติวิธีและการจัดการความขัดแย้งสอดแทรกอยู่ทั้งในตัวบทอัลกุรอานและแนวทางการปฏิบัติของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ซึ่งเป็นสองแหล่งสำคัญที่สามารถอ้างอิงด้วยหลักการอิสลามที่แท้จริงได้ ดังนั้น งานเขียนชิ้นนี้จึงจะเน้นการอธิบายที่ยึดหลักสองแหล่งอ้างอิงข้างต้นเป็นสำคัญ ด้วยกับคำถามหลักที่ว่า อิสลามมีแนวคิดสันติภาพและเน้นสันติวิธีเหนือกว่าการใช้ความรุนแรงจริงหรือไม่ และหากมีเป็นไปในลักษณะใด ขณะเดียวกันแนวทางการจัดการความขัดแย้งในอิสลามเป็นอย่างไรและมีความสอดคล้องกับแนวทางการจัดการความขัดแย้งในปัจจุบันหรือไม่แนวคิดสันติภาพและสันติวิธีในอิสลาม (Peace and Nonviolence in Islam)

อิสลาม ถือได้ว่าเป็นบทบัญญัติแห่งสันติภาพ และเป็นศาสนาแห่งความกรุณาโดยมิต้องสงสัย นอกจากผู้ที่ไม่เข้าใจบทบัญญัติของอิสลาม ผู้ที่จงเกลียดจงชังอิสลามหรือผู้ที่ดื้อรั้นไม่ยอมรับต่อหลักฐานพยานเท่านั้นที่จะปฏิเสธ (ซุฟอัม, 2547, หน้า 52–53)ในเชิงนิยามความหมาย “อิสลาม” มาจากศัพท์ “สะละมะ” หมายถึงเข้าไปในสันติ หรือ “อัสลัม” หมายถึงยอมมอบน้อมตัว

ฉะนั้นอิสลามจึงหมายถึง 1. สันติ 2. การยอมมอบตัวโดยนอบน้อม โดยนัยนี้ การแสวงสันติกับพระผู้เป็นเจ้า คือ การยอมมอบตนโดยสิ้นเชิงยังพระประสงค์ของพระองค์และการแสวงสันติกับมนุษย์ก็มิได้หมายถึงการไม่กระทำสิ่งใดบาดหมางใจหรือให้ร้ายต่อผู้นั้น แต่หมายถึงการทำดีต่อผู้นั้นด้วย (ดิเรก, 2547ข, หน้า 15)

ในธรรมนูญของอิสลามซึ่งก็คือ อัลกุรอานมีการระบุให้ได้เห็นถึงคุณค่าของสันติภาพ ความยุติธรรม ความถูกต้องและความเท่าเทียมไว้อย่างชัดเจน นับตั้งแต่การใช้คำว่าสันติเป็นคำหลักในการทักทายในอิสลาม ด้วยคำว่า“ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน” ซึ่งทำให้เห็นว่าอิสลามได้ให้ความสำคัญกับสันติภาพและคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เราจะทักทายต่อกันอย่างเท่าเทียม (Shomali, 2006,pp. 27–29) นอกจากนั้นยังมีโองการที่ระบุเกี่ยวกับสันติภาพในอัลกุรอาน (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ, 2556, หน้า66) ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเข้าไปอยู่ในกระบวนการสันติภาพโดยทั่วทั้งหมดเถิด” (อัลบะเกาะเราะฮฺ: 208)

ขณะเดียวกัน คำว่า สันติ ยังเป็นอีกหนึ่งพระนามที่ใช้เรียกอัลลอฮฺ ว่าเป็นผู้ทรงสันติ ดังในอัลกุรอาน (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ, 2556, หน้า 1476) ที่มีใจความว่า“พระองค์คืออัลลอฮฺ ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีกนอกจากพระองค์ผู้ทรงอำนาจสูงสุด ผู้ทรงบริสุทธิ์ผู้ทรงความศานติสุข ผู้ทรงคุ้มครองการศรัทธาผู้ทรงปกปักรักษาความปลอดภัย ผู้ทรงความยิ่งใหญ่ ภูมิใจมหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺให้พ้นจากสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคีต่อพระองค์”(อัลฮัชรฺ: 23)

ชาวมุสลิมในบางประเทศยังได้ตั้งชื่อเมืองพวกเขาว่า “ดารุสสลาม” หรือ “ดารุลอามาน” ซึ่งหมายถึง บ้านแห่งความสงบสันติและปลอดภัย เช่น บรูไนดารุสสลามฟาฏอนีดารุสสลาม หรือชื่อของเมือง เช่น เคดาห์ดารุลอามาน เป็นต้น (ศราวุฒิ, 2548, หน้า 46)

ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ได้อธิบายว่า สันติภาพในอิสลามมิใช่เป็นกระบวนทัศน์ที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตัว ชนชาติหรือประเทศชาติใดเป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นศาสนบัญญัติแห่งสากล เป็นระบบที่ครอบคลุม เป็นธรรมนูญที่ควบคู่และสอดคล้องกับผู้คนในพื้นโลก ศาสนทูตทั้งหลายได้ร่วมกันก่อร่างสร้างแนวทางแห่งสันติภาพและความสงบสุขบนโลกนี้ กระทั่งในที่สุดสันติภาพก็ได้บังเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เบ็ดเสร็จด้วยสารแห่งมุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ผู้เป็นศาสนทูตคนสุดท้าย(ซุฟอัม, 2548, หน้า 38–39) ดังที่ท่านศาสนทูตได้มีวจนะไว้ความว่า“อุปมาการเป็นศาสนทูตของฉันและศาสนทูตท่านอื่นๆในยุคก่อนหน้าฉัน ประหนึ่งชายคนหนึ่งที่สร้างบ้านอย่างสวยงามสมบูรณ์เพียงแต่ขาดอิฐอีกก้อนหนึ่ง ณ มุมหนึ่งของบ้านหลังนั้น ผู้คนทั้งหลายได้เดินเวียนรอบๆ บ้านหลังนั้นและตะลึงในความสวยงามของมัน พร้อมกับกล่าวว่า “หากมีอิฐอีกก้อนตรงนี้(ณ มุมที่ยังขาดอยู่แน่นอนบ้านหลังนั้นจะสวยงามโดยไม่มีที่ติเลยทีเดียว)” ฉันนี่แหละคืออิฐก้อนนั้น และฉันคือผู้ปิดท้ายบรรดาศาสนทูต”

อิสลาม มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสันติภาพระหว่างคนแต่ละคนกับพระผู้ทรงสร้างเขา ระหว่างคนแต่ละคนกับความสำนึกของเขา และระหว่างเขากับชุมชนของเขาสันติภาพสามารถสร้างขึ้นมาได้ในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของกลุ่มต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละคนกับรัฐบาลของพวกเขา และในที่สุดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ด้วยข้อกำหนดที่ครอบคลุมในทุกด้านของชีวิตนี้ จึงกล่าวได้ว่าอิสลามได้วางรากฐานของสันติภาพไว้อย่างแน่นหนาในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับ

ปัจเจกบุคคล จนถึงระดับสังคมที่กว้างขวางออกไป(ภราดร, 2527, หน้า 67) ระบอบของอิสลามได้วางพื้นฐานทั้งสันติภาพภายในของแต่ละบุคคลและได้วางโครงสร้างทางสังคมที่ป้องกันการกดขี่กันทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองซึ่งถือได้ว่าเป็นการป้องกันความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั่นเอง ดังนั้นศาสนาอิสลามไม่ใช่เพียงศาสนาที่มีความหมายว่าสันติภาพเท่านั้น หากแต่วิถีทั้งหมดของอิสลามนั้นคือวิถีแห่งสันติภาพ ศาสนาอิสลามจึงมิได้เป็นเพียงชื่อ และคำทักทายเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง

กุศโลบายหนึ่งที่จะทำให้มุสลิมและผู้ที่เกี่ยวข้องผูกพันกับมุสลิมได้ระลึกไว้เสมอว่า ศาสนาอิสลามคือ ศาสนาแห่งสันติภาพ (คัทลียา, 2550, หน้า 220)

นอกจากแนวคิดสันติภาพกับอิสลามที่เป็นเพียงนามธรรมแล้ว อิสลามยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสันติภาพที่เป็นรูปธรรมอีกด้วย เช่น อิสลามได้กำหนดไว้ในการทำฮัจญ์ให้มุสลิมได้ฝึกฝนความมีสันติ กล่าวคือ ผู้ใดที่ได้ตั้งเจตนาและเข้าสู่กระบวนการของการทำฮัจญ์แล้ว นับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นการห้ามสำหรับเขาในการกระทำใดๆ อาทิ ตัดเล็บ โกนผม เด็ดใบไม้ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ล่าสัตว์หรือกระทำการใดๆ ที่สร้างความเดือดร้อนหรือความไม่พอใจแก่คนอื่น ไม่ว่าด้วยมือหรือลิ้นของเขา เขาไม่อนุญาตให้โต้ตอบใดๆ แม้ว่าเขาจะประจันหน้ากับฆาตกรที่ฆ่าบิดาผู้บังเกิดเกล้าของเขา เป็นต้น (ซุฟอัม, 2547, หน้า 47)

ในขณะที่ประเด็น อิสลามกับสงคราม อัล-บันนา (ซุฟอัม, 2547, หน้า 56) ได้อธิบายว่า กฎเกณฑ์หลักประการหนึ่งที่อิสลามได้กำหนดไว้สำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ คือ ความสงบสุข ความศานติ และความมั่นคง ในขณะเดียวกันอิสลามเป็นศาสนาที่คำนึงถึงความเป็นจริงและไม่เคยหลีกเลี่ยงความเป็นจริงตราบใดที่โลกยังมีกลุ่มของมนุษย์ที่หลากหลายด้วยอารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการที่ไม่สิ้นสุดและตราบใดที่การแย่งชิงในการดำรงชีวิตเช่นนี้ยังคุกรุ่นอยู่ในจิตใจของมนุษย์ไม่ว่าในระดับปัจเจกหรือสังคมก็ตาม แน่นอนที่สุดว่าจะต้องมีความขัดแย้งอันนำไปสู่การปะทะกันในบางครั้ง ด้วยเหตุ

นี้สงครามจึงเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นวิธีการที่น่ายกย่องหากสงครามมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านผู้รุกราน ยับยั้งความอยุติธรรม พิทักษ์สัจธรรมและยื่นมือเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกกดขี่ สงครามในลักษณะเช่นนี้เป็นคุณงามความดีประการหนึ่งที่สามารถสร้างความดีงาม ความประเสริฐ และความสูงส่งให้แก่มวลมนุษยชาติ แต่หากกระทำสงครามโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความพินาศและหายนะบนพื้นโลกหรือกดขี่ข่มเหงผู้อ่อนแอ สงครามในลักษณะนี้ถือเป็นความเลวทรามที่จะก่อให้เกิดความชั่วร้าย และนำความหายนะมาสู่มวลมนุษยชาตินอกจากนั้นแล้ว ชัยคฺยูซุฟ อัล-เกาะเราะฎอวียฺได้อธิบายว่า สิ่งยืนยันอีกประการหนึ่งในความมุ่งมั่นของอิสลามต่อสันติภาพ คือ อิสลามได้บังคับชาวมุสลิมให้หยุดสงครามและไม่อนุญาตให้มีการรบราฆ่าฟันตลอดระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งใช้เวลา 1 ใน 3 ของปี มุสลิมไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำสงครามในช่วง 4 เดือนดังกล่าวที่เป็นที่รู้จักในชื่อเดือนหะรอม(ต้องห้าม) อันได้แก่ ซุลกิอฺดะห์ซุลฮิจญะฮฺ มุฮัรรอม และร่อญับ (มัสลัน, 2549, หน้า 23)ซึ่งอัลลอฮฺทรงดำรัสไว้ในอัลกุรอาน ความว่า“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่าให้เป็นที่อนุมัติซึ่งบรรดาเครื่องหมายแห่งศาสนาของอัลลอฮฺและเดือนที่ต้องห้าม (มิให้ทำการสู้รบและหลั่งเลือดกัน)”(อัลมาอิดะฮฺ: 2)ดิเรก (2547ก, หน้า 32) กล่าวว่า “สันติภาพตั้งอยู่ บนความเที่ยงธรรม การเสียสละทำให้เกิดความรักและความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สันติภาพจะตั้งอยู่บนการเอารัดเอาเปรียบกันไม่ได้

สันติภาพและภราดรภาพในอิสลาม จึงมาจากความเข้าใจให้ลึกซึ้งและการปฏิบัติโดยไม่เอาหน้า แต่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างแท้จริงหลักการที่กล่าวมานี้ หมายถึงการอยู่ร่วมกันโดยผาสุก มีความเป็นธรรม มีจิตเมตตา มีความจริงใจและซื่อตรงต่อกันและกัน กฎหมายระหว่างประเทศก็ต้องการเช่นนี้เหมือนกัน จะหาหลักการเช่นนี้ได้ที่ไหนนั้น มิต้องไปไกล มิต้องเสียเวลา อยู่ใกล้ๆ ในหลักธรรมคำสอนของอิสลามนี่เอง”

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แนวคิดสันติภาพได้สอดแทรกในหลักคำสอนของอิสลามที่ถ่ายทอดสู่อัลกุรอานและจริยวัตรของท่านศาสนทูต นับตั้งแต่มิติของการใช้คำ เช่น ความหมายของอิสลามโดยรากศัพท์ การทักทายของชาวมุสลิม ชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกพระเจ้า หรือชื่อเมืองมุสลิมเป็นต้น วิถีของอิสลามที่ระบุไว้ซึ่งความสัมพันธ์ต่างๆในสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ตลอดจนยังสะท้อนสู่หลักการปฏิบัติที่ใช้ควบคู่กับหลักแห่งความสันติ ไม่ว่าจะเป็นการทำฮัจญ์ หรือ หลักเกณฑ์การทำและงดเว้นสงครามก็ตาม

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้พยายามที่จะเสนอแนวความเห็นว่าบริบทที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งการพัฒนาของโลก วิถีการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนจากกรอบของชนเผ่าสู่การอยู่ร่วมเป็นรัฐที่มีฐานของความหลากหลาย ตลอดจนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการสร้างอาวุธสงครามที่มีออำนาจทำลายล้างสูงขึ้น การใช้ความรุนแรงที่เป็นข้ออนุมัติอยู่ในอิสลามจึงอาจไม่เหมาะสมกับสภาพที่เป็นไปอีกต่อไป และเน้นไปที่การใช้วิธีการที่สันติมากขึ้น (สุชาติ, 2550, หน้า 25–26) ดังเช่นที่ระบุในอัลกุรอาน ความว่า“ทุกครั้งที่พวกเขาจุดไฟขึ้นเพื่อทำสงครามอัลลอฮ์ก็ทรงดับไฟนั้นเสีย และพวกเขาเพียรพยายามบ่อนทำลายในผืนแผ่นดิน และอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงชอบผู้บ่อนทำลายทั้งหลาย” (อัล-มาอิดะหฺ:64)

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด อาจสามารถอธิบายจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด (Back to basic) ได้เช่นกัน ในกรณีนี้ หากย้อนกลับไปมองถึง หลักปฏิบัติพื้นฐานทั้ง 5 ประการของอิสลาม ซึ่งประกอบไปด้วย การเชื่อมั่นและศรัทธาในอัลเลาะห์และท่านรอซูล การละหมาด 5 เวลาต่อวัน การบริจาคทาน การถือศีลอด และการทำฮัจญ์ วิธีการปฏิบัติเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นไปด้วยวิถีสันติ การเชื่อฟัง ช่วยเหลือแบ่งปันความรับผิดชอบทางสังคม การเสียสละ เชื่อในความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชาติ ตลอดจนฝึกและควบคุมจิตใจของตนให้อดทนอยู่ในความสงบทั้งสิ้น วิธีการเหล่านี้หากมองเทียบแล้วก็นับได้ว่าเป็นรูปแบบของสันติวิธี (Non-violence) นั่นเอง (KadayifçiOrlleana, 2003, p. 56) ท้ายสุดแล้ว เมื่อเกิดความศรัทธาจากภายในจิตใจแล้ว ก็จะสะท้อนสู่มิติภายนอกของการสร้างสันติภาพทั้งในระดับปัจเจก ระดับสังคม ระดับชาติและระดับโลกได้

แนวคิดการจัดการความขัดแย้งในอิสลาม (ConflictResolution in Islam)ความขัดแย้ง (Conflict) ได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว ไม่ว่าจะในระดับส่วนบุคคล กลุ่ม หรือระหว่างประเทศ ทั้งที่มีคู่ขัดแย้งเพียงสองหรือมีมากกว่านั้น กรอบการคิดเพื่อจัดการกับความขัดแย้งเหล่านี้จึงเกิดขึ้นมาควบคู่ไปการจัดการความขัดแย้ง (ConflictResolution) คือวิธีการหรือกระบวนการในการลดหรือยุติความขัดแย้งระหว่างคู่ขัดแย้ง โดยอาจแบ่งเป็นช่วงของการป้องกัน การลดความรุนแรงและการหาแนวทางจัดการที่ถาวร ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อหยุดสงครามและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งมีลักษณะไม่ตายตัว ดังนั้นวิธีการที่เฉพาะเจาะจงจึงไม่สามารถกำหนดได้ตายตัว หากแต่ขึ้นอยู่กับลักษณะของความขัดแย้งนั้นๆ บางครั้งอาจยุติด้วยความรุนแรง บางครั้งอาจหยุดเพราะเวลาที่เปลี่ยนบริบทความขัดแย้ง หรือบางครั้งอาจยุติด้วยข้อตกลงร่วมกัน (Monjur, 2011, pp.111–112) อย่างไรก็ดี มีแนวทางแบบตะวันตกที่ออกมาเพื่ออธิบายการจัดการความขัดแย้งอย่างเป็นระบบ เช่นโมเดลนาฬิกาทราย (the hourglass model) ซึ่งอธิบายว่าในแต่ละช่วงของความขัดแย้งจะมีแนวทางการจัดการความขัดแย้งที่ต่างกัน นับตั้งแต่เมื่อเริ่มมีความต่าง ก็ควรใช้วิธีการสร้างสันติภาพเชิงวัฒนธรรม เมื่อพัฒนาสู่การขัดแย้งก็ควรสร้างสันติภาพเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาทักษะขององค์กรภาคประชาสังคม ถัดไปเมื่อเริ่มเกิดเป็นขั้วอำนาจแล้ว ก็ควรให้เกิดการสร้างสันติภาพในระดับผู้นำผ่านการทูตและการเจรจา เมื่อถึงขั้นของความรุนแรงแล้วควรรักษาสันติภาพโดยการจัดการกับวิกฤตการณ์นั้นๆ และเมื่อถึงขั้นของสงคราม สิ่งที่ควรทำคือการจำกัดขอบเขตของสงคราม กระทั่งเกิดข้อตกลงหยุดยิง ก็ควรใช้การรักษาสันติภาพ จนเกิดข้อตกลง ผ่านการพูดคุยระดับผู้นำ และเกิดสภาวะปกติ สร้างความร่วมมือพัฒนาเชิงโครงสร้างและเกิดความปรองดอง ขึ้นมา (Ramsbotham,Miall, & Woodhouse, 2011, pp. 12–14) เป็นต้นAvruch และ Black (อ้างถึงใน Özçelik, 2007, pp.5–6) เริ่มตั้งคำถามถึงกรอบของการนำวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนในการวิเคราะห์ความขัดแย้ง และให้มีส่วนสำคัญในการหาแนวทางการจัดการความขัดแย้ง เช่นเดียวกับที่Lederach และ Wehr (อ้างถึงใน Özçelik, 2007, p. 6) ก็ได้

พัฒนาแนวคิดที่ผู้จัดการความขัดแย้งมาจากคนที่อยู่ในความขัดแย้งนั้นๆ มาเป็นทางเลือกหนึ่งของการนำคนนอกเข้ามามีส่วนในกระบวนการจัดการความขัดแย้ง

ดังนั้นกรอบของการจัดการความขัดแย้งจึงได้ขยายองค์ความรู้ในการศึกษาแนวทางเลือกในแต่ละบริบทพื้นที่มากกว่าเพียงใช้แนวทางแบบตะวันตกเสมอไป กรอบคิดการจัดการความขัดแย้งของอิสลามเองก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่มีการศึกษามากขึ้น แม้ว่าจะไม่สามารถระบุวิธีการหรือกรอบโมเดลที่แน่ชัดได้แต่ก็เห็นแนวคิดการจัดการความขัดแย้งที่สอดคล้องกับการปฏิบัติโดยทั่วไป โดยเฉพาะการใช้บุคคลที่สามเข้ามามีส่วนในการจัดการความขัดแย้ง

สำหรับแนวทางการจัดการความขัดแย้งในอิสลามนั้น นอกเหนือจากแนวทางการใช้สงครามที่ระบุเอาไว้ ในอัลกุรอานและแนวทางของท่านรอซูลมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) (ซึ่งฐานของที่มาทั้งสองจะเป็นหมุดหลักในการอธิบายต่อไป) ถึงแนวทางการจัดการความขัดแย้งทั้งในระดับระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม และระหว่างศาสนาที่ต่างกัน ด้วยรูปแบบของการใช้วิธีการพูดคุยการประนีประนอมเจรจาไกล่เกลี่ยหรือการใช้คนกลาง และการตัดสินที่วางอยู่บนความยุติธรรม ตามความเหมาะสมของแต่ละบริบท (Islam, 2012, p. 31; Labdo, 2010;Monjur, 2011, pp. 113–123; Özçelik, 2007, pp. 3–17)

แนวทางการจัดการความขัดแย้งตามอัลกุรอานแนวทางของอิสลามตามอัลกุรอาน (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ, 2556, หน้า 1252, 657–658 และ 989)ได้ระบุให้มีการตักเตือนและเผยแพร่ศาสนาด้วยการปรึกษาหารือ การพูดคุยสานเสวนาด้วยคำพูดที่ดี ดังที่ว่า“...และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือกันระหว่างพวกเขา”(อัชชูรอ: 38)

“จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยสุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า แท้จริงพระเจ้าของพระองค์และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาผู้ที่อยู่ในทางที่ถูกต้อง”(อัน-นะห์ลฺ: 125) “และพวกเจ้าอย่าโต้เถียงกับพวกอะฮ์ลุลกิตาบ(ชาวคริสต์และชาวยิว) เว้นแต่ด้วยวิธีที่ดีกว่านอกจากบรรดาผู้อธรรมในหมู่พวกเขา...” (อัลอันกะบูต: 46)

ในตัวบทอัลกุรอาน (สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ,2556, หน้า 1349–1350 และ 216) ยังได้ระบุอย่างชัดเจนถึงการจัดการความขัดแย้ง นับตั้งแต่การใช้วิธีการประนีประนอมไกล่เกลี่ยด้วยความยุติธรรมขณะที่มีข้อพิพาทระหว่างสองฝ่าย ดังที่ว่า“และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่ายหากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่งพวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม (แก่ทั้งสองฝ่าย) เถิด แท้จริงอัลเลาะห์ ทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม/แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน

ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา”(อัล-หุญุรอต:9–10)“ไม่มีความดีใดๆ ในการพูดซุบซิบอันมากมายของพวกเขา นอกจากผู้ที่ใช้ให้ทำทานหรือให้ทำสิ่งที่ดีงาม หรือให้ประนีประนอมระหว่างผู้คนเท่านั้น และผู้ใดกระทำดังกล่าวเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺแล้ว เราจะให้แก่เขาซึ่งรางวัลอันใหญ่หลวง”(อัน-นิสาอ์: 114)นอกจากนั้นแล้วกระบวนการใช้คนกลางหรือฝ่ายที่สาม เพื่อช่วยในการตัดสินกรณีพิพาทก็ได้ถูกระบุเอาไว้ในอัลกุรอานเช่นเดียวกัน ในกรณีผู้ตัดสินจะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรมแก่คู่พิพาท และต้องประกอบด้วยการฟังคำให้การจากพยานจากทั้งสองฝ่าย เช่น ที่ระบุว่า“และหากพวกเจ้าหวั่นเกรงการแตกแยกระหว่างเขาทั้งสอง ก็จงส่งผู้ตัดสินคนหนึ่งจากครอบครัวของฝ่ายชายและผู้ตัดสินอีกคนหนึ่งจากครอบครัวฝ่ายหญิง หากทั้งสอง ปรารถนาให้มีการประนีประนอมกันแล้ว อัลเลาะห์ ก็จะทรงให้ความสำเร็จในระหว่างทั้งสอง...”(อัน-นิสาอ์: 35)

“แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้พวกเจ้าให้มอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คน พวกเจ้าก็จะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม แท้จริงอัลลอฮฺทรงแนะนำพวกเจ้าด้วยสิ่งซึ่งดีจริง ๆ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยินและได้เห็น”(อัน-นิสาอ์: 58) “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮฺเป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรมและจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า และพึงยำเกรง อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน”(อัล-มาอิดะฮฺ:8)แนวทางการจัดการความขัดแย้งของท่านรอซูลมุฮัมมัด(ศ็อลฯ)

ท่านรอซูลมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) นับได้ว่าเป็นผู้ที่ใช้วิธีการจัดการความขัดแย้งด้วยการประนีประนอมเจรจาพูดคุยที่ดีเยี่ยมคนหนึ่ง นับตั้งแต่ก่อนที่ท่านรอซูลจะได้รับแต่งตั้งเป็นศาสนทูตจากอัลลอฮฺ ท่านรอซูลเคยเข้าไปมีส่วนในการสังเกตการณ์เหตุการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มชนอาหรับในช่วงเวลานั้นซึ่งมีวิธีการจัดการความขัดแย้งเดิมอยู่ เช่น กรณีการตั้งกรรมการตัดสินข้อพิพาท หรือฮิลฟุล ฟูฎูล ที่เริ่มหลังจากสงครามฮัรบฺ เป็นการร่วมสัตยาบันจากหลายๆเผ่าในมักกะฮฺ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีการคุ้มครอง ปกป้องสิทธิ และให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย โดยมีเหตุจากการที่ชายชาวเยเมน นำสินค้ามาค้าขายที่มักกะฮฺ ซึ่ง อัลอัซบิน วาอิล จากเผ่า ซะฮัม ได้รับซื้อสินค้าของชายคนนั้น แต่ไม่ยอมจ่ายค่าสินค้าตามที่ตกลงไว้ทั้งยังเก็บสินค้าทั้งหมดไว้กับตัวเอง เมื่อชายจากเยเมน เรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้รับ บิน วาอิลกลับเรียกพรรคพวกจากเผ่าอื่นๆในมักกะฮฺ ให้มาร่วมเป็นพยานดังนั้น ชายผู้นั้นจึงขึ้นไปบนเขากูบัยซ แล้วตะโกนขอความช่วยเหลือเสียงดัง กระทั่งซูบัยรจาก เผ่าอับดุลมูฏฏอลิบได้ยิน และกล่าวว่า ใครทำอะไรชายผู้ถูกทอดทิ้งคนนี้ จากนั้นจึงได้ตกลงกัน และยอมคืนทรัพย์สินให้กับชายคนนั้น

หลังจากนั้นทุกเผ่าในมักกะฮฺก็ตกลงทำการสาบานตั้งกรรมการตัดสินข้อพิพาทและจะไม่ละเมิดสิทธิของกันและกัน วิธีการนี้ก็ยังประยุกต์ใช้ต่อไปหลังจากอิสลามเข้ามา จนกระทั่งหลังจากที่ท่านเป็นศาสนทูตแล้ว ท่านได้กล่าวถึงการจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีการนี้ว่าเป็นการงานที่ท่านรักที่สุดก่อนยุคอิสลามและหากชาวอาหรับมักกะฮฺ จะทำการสาบานเช่นนี้อีก ในช่วงหลังอิสลามได้เข้ามา ท่านก็จะเข้าร่วมด้วย

อีกกรณีที่เห็นถึงความหลักแหลมของท่านรอซูลก่อนหน้าที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นศาสนทูตเมื่อตอนที่ท่านอายุ 35 ปี ท่านได้แก้ปัญหากรณีการวางหินดำในกะอฺบะฮฺ(Kabah) ที่ชาวกุร็อยซฺได้บูรณะภายหลังจากเกิดน้ำท่วมและไม่มีระบบความปลอดภัย แต่เมื่อจะนำหินดำไปวางก็เกิดปัญหาระหว่างเผ่าต่างๆ ว่าใครจะเป็นผู้ถือหินดำ กระทั่งเกิดการถกเถียงกันและตกลงว่าให้ผู้ที่เดินเข้ามาคนแรกจะเป็นผู้ตัดสิน ปรากฏว่าเป็นท่านนบีมุฮัมมัด

เมื่อทราบถึงปัญหา ท่านจึงใช้วิธีการนำผ้าปูลงกับพื้น แล้วท่านก็ยกหินดำวางลงตรงกลางผ้าผืนนั้นและให้ทุกฝ่ายจับ

ที่ชายผ้าและยกพร้อมกัน แล้วท่านก็เป็นคนหยิบหินดำขึ้นวางที่กะอฺบะฮฺเองและการตัดสินได้สร้างความพอใจให้กับทุกฝ่ายในครั้งนี้ท่านรอซูลจึงใช้บทบาทการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตัดสินระหว่างคู่ขัดแย้ง บนฐานของความเป็นกลางและยังคงรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายนั่นเอง(อับดุลลอฮฺอิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน

เมื่อมีอายุ 40 ปี ท่านได้รับโองการแต่งตั้งเป็นรอซูลหรือศาสนทูตแล้วเริ่มเผยแพร่อิสลามแก่บรรดาชาวมักกะฮฺที่ต่อต้านท่านรอซูลซึ่งใช้ทุกวิธีในการห้ามและกดขี่มุสลิมใหม่ ตลอดจนขัดขวางการทำงานของท่าน แต่ด้วยจำนวนของมุสลิมที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ชาวกุร็อยซฺเริ่มหันมาใช้การต่อรองกับท่านรอซูลให้หยุดการเผยแพร่ หากแต่ท่านรอซูลยังคงใช้ความอดทน ยืนหยัดในอุดมการณ์ หลีกเลี่ยงความรุนแรง และเผยแพร่อิสลามต่อไป

หากแต่เมื่อจำนวนขยายขึ้นท่านรอซูลต้องกลายเป็นผู้นำของกลุ่มไปด้วยโดยปริยาย หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์ที่มาดีนะหฺเกิดข้อขัดแย้งระหว่างตระกูลเอ๊าซฺและค็อซร็อจญฺ และในเวลานั้นมักกะฮฺไม่ปลอดภัยสำหรับมุสลิม ท่านจึงตอบรับคำเชิญของชาวมาดีนะหฺที่เป็นมุสลิมในการให้ท่านไปช่วยแก้ไขข้อขัดแย้ง เมื่อไปถึงท่านได้ใช้อิสลามเป็นการเชื่อมโยงสองตระกูล และทั้งสองตระกูลก็ตอบรับอิสลาม ครั้งนี้ท่านรอซูลได้ใช้บทบาทของการเป็นคนกลางในการแก้ไขความขัดแย้งของทั้งสองกลุ่ม มิใช่ด้วยประเพณีหากแต่เป็นกรอบของความเป็นพี่น้องอิสลามด้วยกันนั่นเอง (อับดุลลอฮฺอิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อัลค็อรอาน

ภายหลังจากที่ได้อพยพสู่มาดีนะหฺแล้ว ท่านรอซูลได้สร้างความปลอดภัยและความมั่นคงขึ้น ท่านใช้วิธีการทำข้อตกลงกับชาวยิวเพื่อสร้างความร่วมมือและการอยู่ร่วมกัน ภายหลังจากปรึกษากับตัวแทนจากทุกกลุ่มในมาดีนะหฺก็เกิด กฎบัตรมาดีนะหฺ ขึ้นซึ่งถือว่าเป็นกฎบัตรแรกที่เกิดในประวัติศาสตร์โลก โดยมีเนื้อหาในการให้สถานะทางสังคมที่เท่าเทียมแก่ชาวยิวและมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนา แต่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายอิสลาม ครั้งนี้ท่านรอซูลจึงใช้บทบาททางการทูตและข้อตกลงขึ้นมา เช่นเดียวกับกรณีหลังจากเกิดสงครามฮุดัยบิยะฮฺเมื่อในปีคริสต์ศักราชที่ 628 ชาวกุร็อยซฺในมักกะฮฺไม่ยอมให้มุสลิมเข้าไปทำอุมเราะฮฺกระทั่งเกือบจะเกิดสงคราม ท่านรอซูลเลือกใช้แนวทางการเจรจา แล้วจบลงด้วยเกิดสนธิสัญญาอัลฮูดัยบิยะฮฺ (The Treaty of Al-Hudaibiyya) โดยมีรายละเอียดว่าให้มุสลิมเดินทางกลับในปีนี้แล้วปีหน้าให้กลับไปทำใหม่ให้ยุติสงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นเวลา 10 ปีหากมุสลิมจากมักกะหฺไปอยู่มะดีนะฮฺให้ส่งกลับ และหากใครออกจากการเป็นมุสลิมแล้วกลับไปมักกะฮฺ ชาวกุร็อยซฺจะไม่ส่งเขาคืนให้กับมุสลิม

ทั้งนี้บุคคลในเผ่าต่างๆ ที่จะเข้าร่วมกับมุฮัมมัดหรือกุร็อยซฺก็ย่อมทำได้ แม้ว่ารายละเอียดจะทำให้มุสลิมดูเหมือนเสียเปรียบ หากแต่ผลที่มุสลิมได้รับคือทำให้มุสลิมได้รับการยอมรับมีเสถียรภาพและรักษาดินแดนไว้ได้ ยุติสงครามกับชาวกุร็อยซฺมักกะฮฺและมีโอกาสสื่อสารกับกลุ่มอื่นๆมากขึ้น จนทำให้มีจำนวนผู้เข้ารับอิสลามเพิ่มขึ้น ครั้งนี้จึงเห็นว่าท่านรอซูลได้ให้ความสำคัญกับวิธีการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท (อับดุลลอฮฺอิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน ม.ป.ป.; Monjur, 2011, pp.119–122)

จากตัวอย่างที่เห็นได้ชัดข้างต้นจะเห็นได้ว่าท่านรอซูลได้ใช้วิธีการจัดการความขัดแย้งที่มีลักษณะไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี แต่หลักการสำคัญคือการพูดคุยเจรจา ประนีประนอมไกล่เกลี่ยและช่วยในการตัดสินข้อพิพาททั้งในฐานะของผู้นำทางศาสนาและทางการเมืองนอกจากนั้นในหะดิษของท่านรอซูลยังสอดแทรกความสำคัญของวิธีการเหล่านี้อยู่ด้วยเช่นกัน เช่น รายงานจากอะบีฮุรอยเราะฮฺ กล่าวว่า ท่านรอซูล(ศ็อลฯ) กล่าวว่า : “ทุกๆอวัยวะของมนุษย์ มีการทำซอดาเกาะฮฺ(การบริจาคทาน)ในทุกๆวันดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา การที่ท่านได้ประนีประนอมระหว่างสองคนด้วยความเป็นธรรม ก็เป็นซอดาเกาะฮฺ...คำพูดจาที่ดีก็เป็นซอดาเกาะฮฺ ทุกๆย่างก้าวที่ท่านเดินไปละหมาด ก็เป็นการซอดาเกาะฮฺและการที่ท่านขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายออกจากถนนหนทาง ก็เป็นการซอดาเกาะฮฺ” (บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

ครั้งหนึ่งมีชาวอาหรับชนบทคนหนึ่งเข้ามาในมัสญิดแล้วก็ปัสสาวะลงที่พื้น ผู้คนได้กรูไปยังเขาเพื่อจะทำร้ายชายผู้นั้น ท่านรอซูล กล่าวว่า : “ปล่อยเขาไปเถิด และเอาน้ำราดลงไปที่ปัสสาวะนั้นกระป๋องหนึ่งหรือจำนวนหนึ่ง แท้จริงแล้ว พวกท่านถูกส่งมาเพื่อเป็นผู้ให้ความสะดวก มิใช่ถูกส่งมาเพื่อให้เป็นผู้ทำความยากลำบากแต่ประการใด”(บันทึกโดยบุคอรีย์)

แล้วสรุป คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการมองด้วยภาพของสันติวิธีในอิสลามและความพยายามจัดการความขัดแย้งอย่างสันติที่ได้ถ่ายทอดผ่านคำสอนจากอัลกุรอานและแนวทางการปฏิบัติของท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) สู่มุสลิมทั่วทุกมุมโลก อาจเป็นมุมมองเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเช่นเดียวกับหลักการของทุกศาสนา ที่หลักคำสอนย่อมมีความครอบคลุม หากเมื่อไหร่ที่จำเป็นจะต้องปกป้องตนเองแล้วอิสลามเองก็ไม่ได้ห้ามการทำสงคราม หรือการใช้วิถีที่อาจมองว่ารุนแรง วิธีการนั้นจะต้องอยู่ในสภาวะที่จำเป็นเพื่อปราบปรามความอธรรมและเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมการเคลื่อนไหวขององค์กรมุสลิมปัจจุบันในหลายประเทศ ล้วนแล้วแต่มีการขับเคลื่อนหลักด้วยการช่วยเหลือให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ผ่านการช่วยเหลือคนยากจน หรือเด็กกำพร้า ซึ่งมีฐานมาจากหลักการบริจาคของอิสลาม การใช้แนวทางการต่อต้านด้วยอารยะขัดขืนเรียกร้องความยุติธรรมให้กับมุสลิมที่ถูกอธรรมด้วยคำสอนของท่านศาสนทูตที่มุสลิมทุกคนต่างเป็นพี่น้องกันหรือการเผยแพร่อิสลามด้วยคำสอนต่างๆที่มี เป็นต้น

แม้ว่าตามหลักการของอิสลามจะสอนให้ปฏิบัติเช่นนี้แต่ก็มีบริบทที่ต้องตอบโต้การรุกรานจากฝ่ายตรงข้าม และหลายครั้งเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นซึ่งอาจเป็นการกระทำของกลุ่มสุดโต่งบางกลุ่มเท่านั้นขณะเดียวกัน สังคมจะเกิดความสันติได้ ก็ต่อเมื่อผู้ที่เชื่อมั่นในหนทางแห่งสันติวิธีอย่างจริงจังมีความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการ สำหรับมุสลิมนั้นจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อหลักการอิสลาม เพื่อไม่ให้กลายเป็นผู้ที่ “ใช้ศาสนาเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม” ให้กับการกระทำที่รุนแรงของฝ่ายตน

เมื่อเข้าใจถึงหลักการที่แท้จริงแล้ว ก็จะหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการกับความขัดแย้งแต่ละครั้งได้โดยที่ไม่ขัดต่อหลักการของอิสลาม ดังเช่นที่ ท่านศาสนทูตได้ทำไว้เป็นตัวอย่างในหลายครั้งแล้วว่า “ความรุนแรง” ไม่ใช่หนทางเดียวในการจัดการกับปัญหาต่างๆ สำหรับแนวทางอิสลาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น