วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2565

กัสตูรี มะห์โกตา: ไม่เจรจาในกรอบ รธน.ไทย

 

กัสตูรี มะห์โกตา: ไม่เจรจาในกรอบ รธน.ไทย

ผู้นำพูโลยืนยันไม่เห็นด้วย กับการพูดคุยสันติภาพในปัจจุบัน ที่ทำภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย แม้ว่าต้องการให้กระบวนการเป็นการรวมเอาทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน แต่หากยังทำงานในกรอบนี้ พูโลจะไม่เข้าร่วมแม้อาจจะได้รับเชิญ

       หลังการให้สัมภาษณ์สื่อสองรายที่ผ่านมา และมีข้อมูลบางประการยังขัดกัน Patani NOTES ขอความชัดเจนอีกครั้งจากกัสตูรี หลังจากที่เขากล่าวถึงกรอบของการพูดคุยในกระบวนการสันติภาพ กับบทบาทของตนเองในการปฏิบัติการหลังสุด

สำนักสื่อ Wartani ออกคลิปบทสัมภาษณ์นายกัสตูรี ในบทสัมภาษณ์ เขายืนยันว่า เหตุการณ์ระเบิดที่สายบุรีเมื่อวานนี้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 บาดเจ็บอีก 3 เป็นฝีมือของกองกำลังพูโลที่เรียกว่า G5 อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนเอง อย่างไรก็ตามเมื่อ Patani NOTES สอบถามอีกครั้งว่า ขณะนี้เขาเป็นผู้บังคับการทางทหารของกลุ่มหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “ผมอาจใช้คำผิด ผมหมายถึง รับผิดชอบกลุ่ม ไม่ใช่บังคับบัญชา

ส่วนสาเหตุที่ลงมือหนนี้ กัสตูรีบอกกับ Wartani ว่าเพื่อกดดันให้การพูดคุยสันติภาพมีความจริงจัง และเน้นเป้าหมายเพื่อสันติภาพจริงๆ ไม่เพียงแค่ยุติการก่อเหตุหรือที่นายกัสตูรีใช้คำว่า “เพื่อความมั่นคง” เท่านั้น

กล่าวคือเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุขไม่ใช่สันติภาพ เขาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยที่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย โดยบอกว่าการพูดคุยควรอยู่ภายใต้ “กรอบสากล” มากกว่า ซึ่งเขาไม่ได้อธิบายว่าคืออะไร ถัดมาเขาเห็นว่า กระบวนการพูดคุยที่จะยอมรับได้จะต้อง “ครอบคลุมทุกกลุ่ม” ไม่ใช่แค่กองกำลังหรือรัฐฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น

ถ้ากระบวนการยังยึดกรอบ รธน.ไทย เรา (พูโล) ก็ไม่สนใจจะเข้าร่วม” เขายืนยัน

นายกัสตูรีให้สัมภาษณ์ Wartani ด้วยว่า เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการเข้าร่วมการพูดคุยของฝ่ายขบวนการในปัจจุบัน เขาเชื่อว่าวิธีการที่ดีกว่าคือการพูดคุยในกลุ่มต่างๆกันเองก่อน เพื่อให้เกิดเอกภาพแล้วจึงคุยกับฝ่ายรัฐบาลไทย และยังอธิบายด้วยว่า การที่มีการก่อตั้งกลุ่ม G5 ของพูโลก็เพื่อสร้างเอกภาพในหมู่แกนนำ

เหตุการณ์ระเบิดที่สายบุรี เป็นเหตุรุนแรงหลังสุดที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนถือศีลอด ซึ่งคณะพูดคุยของรัฐบาลและกลุ่มบีอาร์เอ็นตกลงกันไว้ด้วยวาจาว่า จะลดปฏิบัติการทางทหารลง ก่อนหน้านั้นก็มีเหตุการณ์ยิงอุสตาสเสียชีวิต แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ไทยระบุว่า ความรุนแรงที่ผ่านมาในช่วงเดือนรอมฎอนดังกล่าวทำให้จะต้องมีการประสานงาน กับทางกลุ่ม BRN เพื่อทบทวนกันต่อไป อย่างไรก็ตามฝ่ายไทยยังคงเห็นว่า ความริเริ่มรอมฎอนสันติยังคงเดินหน้าต่อไปได้

กับความเป็นไปได้ที่ว่า การก่อเหตุหนนี้คือเสียงเรียกร้องให้มีการรวมทุกกลุ่มในการพูดคุยนั้น นักวิเคราะห์ในฝ่ายรัฐบาลระบุว่า อันที่จริงแล้วเรื่องการให้ใครเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย เป็นเรื่องที่ BRN และกลุ่มอื่นๆต้องหารือกันเอง แต่ปัญหาใหญ่ในเวลานี้คือ การก่อเหตุรุนแรงเช่นนี้จะทำให้เกิดกระแสต้านทานการเคลื่อนไหวถัดไป ของกระบวนการพูดคุยหรือไม่ เพราะวางย่างก้าวกันไว้ว่า จะมีการปรึกษาหารือสาธารณะไม่ว่าทั้งโดยฝ่ายไทยและ BRN มีคำถามว่า การเกิดเหตุรุนแรงเช่นนี้จะส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านการยอมให้กลุ่มบีอาร์เอ็น “หารือสาธารณะ” ในพื้นที่ได้หรือไม่ รวมไปถึงการที่พูโลจะเข้าร่วมในอนาคต แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่าเรื่องเช่นนี้จะเพิ่มแรงเสียดทานให้กับการทำงานของฝ่ายรัฐบาลในการระดมเสียงสนับสนุนในเรื่องสร้างสันติภาพ

ส่วนดอน ปาทาน นักสังเกตการณ์ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ให้ความเห็นว่า การก่อเหตุรุนแรงของพูโลไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยภาพรวม แต่อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าในพื้นที่ในเวลานี้ไม่ได้มีเพียงกองกำลังของ BRN ดังที่เคยเข้าใจกันเรื่อยมา  อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าพูโลนั้นไม่มีกองกำลังแบบประจำการ ดอนฯ ชี้ว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นมีเครือข่ายกว้างขวางทั้งใน และนอกประเทศที่นักสู้ของกลุ่มจะพึ่งพิงได้ แต่พูโลไม่มี “ผมอยากให้ดูเหตุการณ์ที่คนที่ทำงานให้พูโลสองคนในอดีตที่มีส่วนในการก่อเหตุที่รามคำแหงซอย 43/1 ในช่วงต้นปี 2556 พวกเขาถูกจับได้อย่างรวดเร็วมาก มันแสดงว่าพูโลไม่ได้มีเครือข่ายใดสนับสนุนอยู่” แต่การที่พูโลยืนยันไม่ร่วมพูดคุย หรือเจรจาภายใต้กรอบรธน.ที่กำหนดเพดานในเรื่องบูรณภาพของดินแดนเอาไว้ชัดเจน ก็น่าจะได้ใจกลุ่มคนเชื้อสายมลายูปาตานีจำนวนหนึ่งในพื้นที่ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีความหวังกับการมีรัฐอิสระอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น