วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2565

กีตอกาเซะรายอกีตอ - เรารักในหลวงของเรา

 

"กีตอกาเซะรายอกีตอ - เรารักในหลวงของเรา" รอยพระบาทยาตราชายแดนใต้

"กีตอกาเซะรายอกีตอ" - เรารักในหลวงของเรา นี่คือสิ่งที่พสกนิกรไทยมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แสดงออกถึงความจงรักภักดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น

พื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะพิเศษ เนื่องจากความหลากหลายในด้านชาติพันธุ์ ศาสนา และ วัฒนธรรม ในอดีตที่ผ่านมาปัญหาใหญ่ของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ก็คือ ภัยคุกคามจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ ต่อสู้กับรัฐบาลไทยเพื่อแยกดินแดนในส่วนนี้จัดตั้งรัฐอิสระ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงภัยคุกคามความมั่นคงที่ชายแดนใต้เป็นอย่างดีและในช่วงที่ทรงครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียน บำบัดทุกข์ บำรุงสุขพสกนิกรในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง

"กีตอกาเซะรายอกีตอ" - เรารักในหลวงของเรา นี่คือสิ่งที่พสกนิกรไทยมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แสดงออกถึงความจงรักภักดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น

สายเมือง วิรยศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานโครงการ 1 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ความห่วงใยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีต่อพสกนิกรชาวไทยเป็นที่ประจักษ์ผ่านพระราชกรณียกิจต่างๆ น้ำพระทัยและพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์นั้น แผ่ครอบคลุมไปทุกหมู่เหล่า ไม่แยกเชื้อชาติ ศาสนา

สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พระองค์ท่านเริ่มเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรครั้งแรกที่จังหวัดนราธิวาส ประมาณเดือนมีนาคม 2502 และเสด็จต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการแปรพระราชฐานไปที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2517 ถือเป็นสายใยเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพสกนิกรชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ พระองค์ท่านจะเสร็จเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคม หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถจนถึงประมาณต้นเดือนตุลาคม

จุดเริ่มต้นในการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ก็คือ การรับสั่งให้โรงพยาบาลนราธิวาสและโรงพยาบาลสุไหงโกลก จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปดูแลรักษาคนไข้ที่อำเภอแว้ง อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นงานพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างในหลวงกับพสกนิกรชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ก็ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา และความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ทั้งในด้านจิตใจและด้านการพัฒนา ซึ่งกระจ่างชัดจากคำที่พสกนิกรในพื้นที่เรียกขานถึงกษัตริย์ของพวกเขา ซึ่งมีการพัฒนาการมาเป็นลำดับ บ่งบอกนัยความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

เริ่มแรกชาวบ้านเรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "รายอซีแย" ที่แปลว่า King of Siam ซึ่งเป็นคำเรียกที่เป็นทางการมาก ต่อมาหลังจากที่ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่มากขึ้น ชาวบ้านก็เรียกว่า "รายอกีตอ" ซึ่งแปลว่า พระมหากษัตริย์ของเรา และในระยะหลังเปลี่ยนเป็น "รายอกีตอบาเอะ" ซึ่งแปลว่า ในหลวงของเรานี่ดี บ้างก็มักพูดกันว่า "กีตอกาเซะรายอกีตอ" ที่แปลว่า "เรารักในหลวงของเรา"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยในศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในพื้นที่เป็นอย่างดี อย่าง เช่น เวลาที่ผู้นำศาสนาเข้าเฝ้าฯ ที่ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระองค์ท่านก็บอกให้แต่งกายตามประเพณีท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงเข้าใจความเป็นมุสลิมเป็นอย่างดี

ในขณะเดียวกัน พระองค์ยังเป็นพระมหากษัตริย์ทีทรงทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนา สำหรับศาสนาอิสลามทรงซ่อมแซมทำนุบำรุงมัสยิดหลายแห่ง อย่างเช่น มัสยิดตันหยงที่อยู่หน้าพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ หรือ มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีรับสั่งให้ซ่อมแซมเมื่อปี 2536 หลังจากที่ทรุดโทรมมาเป็นเวลานาน

หลังการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชายแดนใต้ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและมีถึง 398 โครงการ คิดเป็นงบประมาณส่วนพระองค์มากถึง 3,700-3,800 ล้านบาท โดยแยกเป็น จังหวัดนราธิวาส 296 โครงการ ใช้งบประมาณไปประมาณ 2,700 ล้านบาท จังหวัดปัตตานี มีอยู่ 62 โครงการ ใช้งบประมาณไป 549 ล้านบาท ในขณะที่ จังหวัดยะลา มีอยู่ 40 โครงการ ใช้งบประมาณไป 455 ล้านบาท

ในด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม การเสด็จแปรพระราชฐานทุกปี พระองค์ท่านจะเสด็จฯเป็นประธานและมอบรางวัลให้กับผู้ชนะในการแข่งขัน เรือกอและ และ นกเขาชวา อันเป็นกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตของราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้

วาเด็ง ปูเต๊ะ

ภาพแห่งความจงรักภักดีและความผูกพันระหว่างพสกนิกรมุสลิม และพระมหากษัตริย์ของพวกเขา ปรากฏผ่านชายชราคนหนึ่งนาม วาเด็ง ปูเต๊ะ ซึ่งถูกเรียกขานว่า "พระสหายแห่งสายบุรี" ราษฎรบ้านทุ่งเคร็ด อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้เข้าเฝ้าฯในหลวงเมื่อครั้งเสด็จฯ เยี่ยมเยียนพื้นที่ดังกล่าวซึ่งประสบปัญหาเกี่ยวกับดินเปรี้ยวเมื่อเดือนกันยายน ฑ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการเสด็จที่อยู่นอกเหนือหมายงานและทำให้พบเจอชายชราวัย 70 ปีในขณะนั้นที่พูดจาฉะฉานและตรงไปตรงมา

"ตอนนั้นเป๊าะทราบแล้วว่าเป็นในหลวง แต่จะเข้าไปใกล้ๆก็ไม่กล้า เพราะว่านุ่งโสร่งตัวเดียว ไม่ได้สวมเสื้อ พอเข้าไปใกล้ๆ ในหลวงก็บอกว่า จะมาขุดคลองชลประทานให้ พอได้ยินอย่างนั้น เป๊าะก็ดีใจมาก คุยกันเยอะ ในหลวงคุยกับเป๊าะเป็นภาษามลายู ท่านพูดมลายูสำเนียงไทรบุรี คุยกันก็เข้าใจเลย พอเจอกันบ่อยๆ คุยกัน มีความเห็นตรงกัน ท่านก็เลยรับเป๊าะเป็นพระสหาย เป๊าะบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่บอกท่านไป ทั้งหมดเป็นความจริง พูดโกหกไม่ได้จะเป็นบาป คิดถึงท่านที่สุดเลย" วาเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายแห่งสายบุรีระบุ

ภาพเหตุการณ์ในวันนั้น เป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็น เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกอีกแล้วที่จะเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิดได้โดยไม่ต้องใส่เสื้อ

"เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" คำสั้นๆเพียงสามคำ คือสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวทางในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นบทสรุปซึ่งได้มาจากการประกอบพระราชกรณียกิจในพื้นที่นี้มาไม่น้อยกว่า 4 ทศวรรษ

หมายเหตุ : เนื้อหาจากหนังสือ "ตามรอยพระบาท ชาติมั่นคง" จัดพิมพ์โดย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น