วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565

ไทยพุทธไทยมุสลิม ต่างแค่ความเชื่อ แต่ไม่ได้สอนให้คนเกลียดชังกัน

 

       คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอิสลาม เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบและปลอดภัยมาช้านาน ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน เป็นภาพประทับใจที่ไม่เพียงส่งผลต่อสภาพจิตใจที่ดีเท่านั้น ยังส่งผลดีต่อชีวิตทางเศรษฐกิจของส่วนรวมและชีวิตความเป็นอยู่ทั่ว ๆ ไปด้วย

"ศาสนา" ปัญหาหนึ่ง ที่ค่อนข้างเป็นเรื่องอ่อนไหว ซึ่งสามารถทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่ได้ คือการดูถูกกัน ในเรื่องความเชื่อ โดยเฉพาะ การที่ชาวมุสลิมเชื่อหรือศรัทธาใน "อัลเลาะห์" (ALlah) เนื่องจากศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาที่เชื่อและศรัทธาในพระเจ้า ในขณะที่ศาสนาพุทธไม่เชื่อในพระเจ้า หลายคน จึงคิดว่าทั้งสองศาสนานี้ ไม่มีวันจะเข้าใจกันได้ เมื่อไม่เข้าใจกันแล้ว ก็เลยพาลดูถูกเหยียดหยาม สิ่งที่อีกศาสนาหนึ่งนับถือและศรัทธา ทำให้ความไม่เข้าใจกันยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก

แต่ในแง่ของสังคม มิได้ห้ามจะคบค้าสมาคมระหว่างกัน ด้วยหลักการของอัลกรุอานที่กล่าวไว้ ความว่า "ไม่มีการบังคับใดๆ (ให้นับถือ) ในศาสนาอิสลาม" ซึ่งแปลว่า อิสลามได้วางกติกาอย่างชัดเจน เกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ได้มีการเพิ่มเติมตีความว่า คนต่างศาสานิกคือคนไม่ได้ไม่ต้องไปให้ความร่วมมือ

ล่าสุด ได้มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องศาสนาในพื้นที่ ที่มีบุคคลพยายามสร้างความแตกแยกในพื้นที่ กับข้อความที่ว่า "พระเจ้าทรงชอบผู้ที่ทำตามจะได้ขึ้นสรรค์ และไม่ทรงชอบคนกาเฟร"(คนต่างศาสนิก) ซึ่งได้มีการตีความไปเองว่า เราคนมุสลิม อย่าไปให้ความร่วมมือกับคนต่างศาสนิก เพราะไม่ใช่ความประสงค์ของอัลเลาะห์(ซ.บ.) เป็นการตีความที่ผิด และอาจก่อให้ให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ได้

ผู้รู้ท่านหนึ่ง ได้กล่าวว่า...แน่นอนพระเจ้าทรงรัก ผู้ที่ศรัทธาต่อพระองค์ และทรงไม่ไม่ชอบผู้ที่ไม่ศรัทธาต่อพระองค์ แต่ไม่ใช่ว่า พระองค์ให้รังเกียจผู้ที่ไม่ศรัทธาอิสลาม ให้มุสลิมมีความรักต่อมุสลิมด้วยกัน แต่ในขณะเดี๋ยวกันให้เมตตาคนที่ไม่ศรัทธาต่อพระองค์ด้วย

ส่วนประเด็นการต่อสู้นั้น เว้นแต่ผู้นั้นมารุกรานอิสลาม และมาทำร้ายมุสลิม ซึ่งในประเทศไทย เป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้ทุกศาสนา สามารถดำรงชีพได้ทุกประการ ไม่มีการกีดกั้นทางศาสนา อิสลามไม่ส่งเสริมการรุกรานคนอื่น ดังปรากฏในบทบัญญัติในเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา

ซึ่งแสดงถึงการเคารพในความแตกต่างกันในสังคม แห่งการอยู่ร่วมกัน เช่น การศรัทธาในศาสนาเราแตกต่างกันได้ แต่การร่วมมือในการทำความดี เราต้องส่งเสริมให้ทำ ถึงแม้กับคนที่ไม่ไม่ใช่มุสลิมด้วยกันก็ตาม

เคยมีคนสงสัยถามผมว่า ชาวมุสลิมสามารถถวายของ เช่น อาหารให้พระสงฆ์ได้หรือไม่? ก็ต้องมาดูบริบทว่า ณ ตอนนั้น คน มุสลิมให้ของพระสงฆ์ในฐานะอะไร? ถ้าผู้ให้ มองว่าเป็นการทำบุญ เพื่อเวลาที่ตนเองตายไปจะได้ไปอยู่บนสวรรค์ การให้ด้วย ความเชื่อแบบนั้นมุสลิมย่อมทำไม่ใด้ เพราะขัดกับความเชื่อในหลักเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาอิสลาม

แต่ถ้าให้ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ ให้อาหารท่าน เพราะในชุมชนนั้นไม่มีชาวพุทธอยู่เลย แล้วพระท่านเดินผ่านมา บริบทนี้ เป็นหน้าที่ด้วยซ้ำที่ชาวมุสลิมจะต้องให้อาหารแก่ท่าน เพราะการปล่อยให้พระหิว ไม่มีอะไรกินเลย ย่อมเป็นบาปด้วยซ้ำ

อิสลามสอนว่า "นบีมูฮัมมัด(ซ.ล.) ถูกส่งมายังโลกนี้ ไม่ใช่ เพื่อสิ่งอื่นใดนอกเหนือจาก เพื่อความเมตตาของมนุษยชาติ"

ดังนั้น อิสลามไม่ได้สอน ให้มุสลิมแบ่งปันความเมตตาให้กับคน ในศาสนาเดียวกันเท่านั้น แต่ต้องเผื่อแผ่ถึงมนุษย์ทุกคน รวมถึงทุกสิ่งที่

พระผู้เป็นเจ้าทรงสรรค์สร้าง

ดังนั้น เราต้องนับถือ ให้เกียรติ ช่วยเหลือกันและกัน เพราะเราต่างเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะศาสนาอิสลาม สอนอีกว่า "การรับใช้ผู้อื่น ถือเป็นการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า"

บทความนี้ เพื่อให้ผู้นับถือศาสนาทั้งสอง ได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับศาสนาของเพื่อน รวมทั้งศาสนาที่ตนเองนับถืออย่างลึกซึ้งด้วย เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจซี่งกันและกัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนผืนแผ่นดินนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น