วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

รอมฎอนไทย...อะไรกันนี่

 

รอมฎอนไทย...อะไรกันนี่

ในสังคมมุสลิมเราในยุคปัจจุบัน ไม่ว่า วันนี้แต่ละคน แต่ละกลุ่ม จะยึดจะยืนอยุ่จุดตรงไหน พวกเราก็คือมุสลิมไทยเหมือนกัน เราต้องใช้ชีวิตผูกพันธ์กัน ตายก็ต้องไปส่งมัยยิด(ศพ) กัน

มีอะไรที่สามารถทำให้สังคมมีเอกภาพ ก็ต้องอะลุ่มอล่วยกัน หากว่าสิ่งนั้นไม่ขัดกับหลักการของศาสนา หวังความรักความเมตตา จากเอกองค์อัลเลาะห์ จงประสบแต่ทุกท่าน

     มีกิจกรรมตางๆ มากมายที่โหมจัดกัน เพื่อต้อนรับเดือนอันประเสริฐนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจัดงาน เพื่อหาทุนมาดำเนินงานกิจกรรมในเดือนรอมฎอน และกิจกรรมที่จะจัดในเดือนรอมฏอนส่วนใหญ่ก็เพื่อหาทุนดำเนินงานในเดือนต่อๆไป

     คงจะเป็นเพราะ "รอมฎอนกะรีม" (รอมฎอนใจบุญ) เงินบริจาค และความช่วยเหลือต่างๆ จึงมีมากมายในเดือนนี้ องค์กรที่ทำงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า ก็มีโอกาสเก็บเกี่ยวความช่วยเหลือจากเดือนนี้ ไปมอบให้เด็กกำพร้าตลอดปีถัดไป บางองค์กรได้ซื้อที่ดิน บางองค์กรก่อสร้างอาคารจนแล้วเสร็จ บางองค์กรได้ทุนไว้จัดรายการวิทยุตลอดปีหน้า ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เพราะ รอมฎอนกะรีม เดือนอันประเสริฐ เดือนแห่งความดีงาม ท่านนบีฯ ได้แบ่งเดือนนี้ออกเป็นสามช่วง คือ เดือนแห่งความเมตตา เดือนแห่งการให้อภัย และเดือนแห่งการปลดปล่อยจากไฟนรก ใครที่โกรธเคืองกันมาแต่ปางไหนก็แล้วแต่ น่าจะถือโอกาสของเดือนรอมฎอนในการประสานความสัมพันธ์ การให้อภัย การคิดดี ปรารถนาดี การติดต่อสัมพันธ์เครือญาติ

     แต่ไฉนหนอ รอมฎอนในประเทศไทย มักไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ "รอมฎอนกะรีม" ตั้งแต่ผมจำความได้ พอเข้ารอมฎอนก็จะได้ยินการถกกันในปัญหาคิลาฟียะฮฺ(ขัดแย้ง/ความแตกต่างในวิชาการทางศาสนา) เรื่องละหมาดตะรอวีห์ 8 หรือ 20 ร็อกอะฮฺ ใครดีกว่ากัน

ซึ่งเรื่องมันไม่จบแค่นั้น กลับตามมาด้วยการแยกกลุ่ม แยกสุเหร่ากันไปเลย พอผมโตมาได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำให้ผมเข้าใจเรื่องปัญหาคิลาฟียะฮฺ และเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ที่คนเราจะมีความเข้าใจ ในประเด็นย่อยของศาสนาแตกต่างกัน แต่ที่ผมยังไม่เข้าใจคือ ทำไมนักวิชาการที่เผยแผ่ในยุคนั้น จึงปล่อยให้มีการแตกแยกสุเหร่ากัน จนกลายเป็นแผลเป็นของสังคมจนทุกวันนี้

     ปัจจุบันนี้ ถ้าใครจะถกเรื่องจำนวนร็อกอะฮฺ ของละหมาดตะรอวีฮฺ คงจะถูกมองว่า เชยน่าดู เปล่าครับมิได้หมายความว่าปัญหาความขัดแย้งหมดไป แต่มันมีปัญหาใหม่ๆ หลั่งไหลเข้ามาในห้วงเวลารอมฎอนของทุกปี อาทิ เข้าบวชออกบวชจะเอาเดือนที่ไหน จะใช้ปฏิทินละศีลอดของใคร ดุอาร์กุหนูดในละหมาดวิตรฺแบบไหน ซะกาตฟิฏเราะฮฺออกเป็นเงินได้หรือไม่ ละหมาดอีดที่สุเหร่ากับมุศ็อลลาใครดีกว่ากัน ฯลฯ ทั้งหมดที่กล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกหรือสร้างความเครียดให้กับใคร เพราะมันเป็นเรื่องปกติของความเข้าใจของมุมมองและของความยึดถือ

     ผมเองไม่ประสงค์ จะสรุปตรงนี้ว่า ใครถูกใครผิด แต่ผมก็มีจุดยืนของตนเองในเรื่องดังกล่าว และเชื่อว่าคนอื่นก็มีจุดยืนของตัวเอง ซึ่งผมควรจะให้เกียรติในความคิดของผู้อื่นเช่นกัน แต่กลับกลายเป็นว่าความคิดเห็นที่แตกต่างเหล่านั้น เป็นปมปัญหาที่ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง มองหน้ากันไม่ติด ตัดสายสัมพันธ์ฉันท์มิตร เหินห่างความเป็นพี่น้อง ซ้ำร้ายกลายเป็นบรรยากาศการฟิตนะฮฺกันอย่างรุนแรง มีการใช้สื่อวิทยุหรือเอกสาร(ที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา) โจมตีตอบโต้กันและกัน จนทุกวันนี้มีบางคนบอกไม่อยากฟังรายการวิทยุแล้ว เพราะตั้งใจจะฟังสิ่งดีๆ เพื่อประเทืองปัญญาหรือเพิ่มอีหม่าน แต่กลับกลายมาได้ยินอะไรที่มันไม่สร้างสรรค์ คำพูดทิ่มแทง คำผรุสวาทถูกกรอกเข้าหูแทบทุกวัน (แบบว่าฟังศาสนาแล้วบวชบางน่ะเคยมั้ย)

     ก็ไม่รู้ว่าอะไรกันนักกันหนา หรือคิดว่าการส่อเสียดฝ่ายที่ไม่ตรงกับเรา จะเป็นการ "ดะอฺวะฮฺ" อันยิ่งใหญ่ที่ตนเองจะตักตวงผลบุญ หรือพวกเขาเข้าใจว่า การโจมตีกันทางวิทยุจะเป็นอิบาดะฮฺชนิดหนึ่ง ของเดือนรอมฎอน ทำแล้วอัลเลาะห์ ทรงพอพระทัย หรือการออกใบปลิว แฉความลับของพี่น้อง จะช่วยทำให้การถือศีลอดของตนมีความหนักแน่นขึ้น ถ้าคิดกันอย่างนั้นจริงๆ ผมว่าเราจะไปกันใหญ่แล้วครับ "รอมฎอนกะรีม" แต่คนไทยเราไม่ค่อยจะ "กะรีม" กันเลย

     ประตูนรกถูกปิดในเดือนรอมฎอน อย่าพยายามพังประตูเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น