วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2565

“ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม” ความต่างที่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน

 

“ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม” ความต่างที่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน

ที่ผ่านมา มุสลิมที่กลายเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศ และมักตั้งคำถามเพียงด้านเดียวเสมอ นั่นก็คือ “คนไทยพุทธไม่เข้าใจในความเป็นมุสลิมอย่างเรา ?”

ในนามของคำว่า “มุสลิม” การขบคิดลักษณะนี้ มักเป็นปัญหาตามมาเสมอ เพราะเป็นตรรกะที่มักจะคิดเอาตัวเอง “เป็นศูนย์กลาง” ในการโคจรแห่งความเป็นเพื่อนร่วมโลก ไม่ต่างกัน ในนามคำว่า “ไทยพุทธ” ก็จะต้องปรับทัศนคติเพื่อหาทางออกร่วมกัน

อีกมุมหนึ่งที่มุสลิมอย่างเราต้องคิดนั่นก็คือ “มุสลิมอย่างที่เราเป็น เข้าใจความเป็นพุทธมากน้อยแค่ไหน ?”

ด้วยเหตุนี้ มุสลิมก็ต้องศึกษาความเป็นพุทธ ที่เราต้องคลุกคลีด้วยในทุกวัน เพราะเราใช้ชีวิตร่วมกันและ “รากเหง้าของความเป็นเรา” มันสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อย่างน้อยก็รากเหง้าของเรา (ทั้งไทยพุทธ-มุสลิม) มาจากสายตระกูลเดียวกันโดยมาก นั่นก็คือ “ลัทธิฮินดู-พราหมณ์และศาสนาพุทธ”(มหายาน) ในอาณาจักรลังกาสุกะ ก่อนจะมาเป็น “อิสลาม” ในอาณาจักรปาตานีดารุสลาม

เอาเข้าจริง อิสลามก็เพิ่งเข้ามาในปัตตานียุคสมัยของ พญา ตู  นักปา  อินทิรา มหาวังสา แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น “อิสมาอีล ชาห์ ซิลลุลลอฮฺ ฟิลอาลัม” ปี ค.ศ.1457 เพราะก่อนหน้านี้ เราไม่ได้เป็นทั้งไทยมุสลิม และไทยพุทธอย่างที่เราเป็นกัน

เอาเป็นว่า ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม มันคือ พื้นที่และบทเรียนที่เราต่างแสวงหามาพอ ๆ กัน และเราก็มีความสัมพันธ์มาเหมือนกัน เจ็บมาก็ไม่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงเป็นมิตรสหายกันตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย อย่างตัดขาดกันไม่ได้อย่างแน่นอน

และมุมกลับกันของคนไทยพุทธ “ต้องศึกษาความเป็นอิสลาม” ด้วยคำถามที่ว่า“อิสลามคืออะไร ?” แล้วเริ่มกันหาคำตอบร่วมกัน ไม่ใช่ศึกษาและเข้าใจแค่เพียงว่า “อิสลามไม่กินหมู” อย่างเดียว

เอาเข้าจริง บุคคลที่เราควรศึกษาวันนี้ ไม่ใช่ ยิว คริสต์ หรือ ฮินดู แต่สำหรับ คนไทย สิ่งที่เราควรศึกษาและเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ “พุทธ-อิสลาม” เพราะเราต่างก็คลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ ชีวิตเราอยู่ท่ามกลางความเชื่อเหล่านี้ คนจำพวกนี้ และวางรกรากในพื้นที่แห่งความไม่เหมือนเหล่านี้ดำรงอยู่ ทว่าเมื่อเราไม่เข้าใจ มันคือ “ชะตากรรมแห่งความรุนแรง”

ไม่ต่างจาก ผศ. ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากสำนักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้ง และความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้ไว้อย่างน่าสนใจใน “9 เดือน ของปีที่ 9 ; ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงด้าวเดินไปข้างหน้า

ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็ได้ยืนยันถึงความต่าง ที่เราต้องเรียนรู้กันเพราะพระเจ้าสร้างมนุษย์มาด้วยความไม่เหมือนเพียงเพราะว่า “เพื่อทดสอบมนุษย์ว่า ในความไม่เหมือนเหล่านี้ มุสลิมที่ถืออัลกุรอ่านเป็นธรรมนูญ ยังดำเนินตามเจตนารมณ์แห่งความเป็นอิสลาม ได้หรือไม่ เพราะในความต่าง อิสลามก็จะไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมแตกแยก และวุ่นวาย

อัลกุรอ่านได้บอกอย่างชัดเจนว่า “และหากอัลเลาะฮ์ทรงประสงค์แล้ว แน่นอนก็ทรงทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกัน แต่ทว่า เพื่อที่จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานแก่พวกเจ้า” (5 ; 48)

เพราะเป้าหมายแห่งความต่าง นั่นก็คือ การทำความเข้าใจกันและเรียนรู้ในความไม่เหมือนกัน “พระเจ้าให้เราไม่เหมือนกัน เพียงเพื่อทดสอบว่าเรา เอาอะไรมาจัดการความไม่เหมือน อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือ หลักการศาสนา”ในอัลกุรอ่านได้กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนที่สุด

“เราได้ให้คัมภีร์ลงมาแก่พวกเจ้าด้วยความจริง ในฐานะเป็นที่ยืนยันคัมภีร์ที่อยู่เบื้องหน้ามัน และเป็นที่ควบคุมคัมภีร์นั้น ดังนั้นเจ้าจงตัดสินระหว่างพวกเขา ด้วยสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงประทานลงมาเถิด และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกเขา โดยเขาออกจากความจริงที่มายังเจ้า สำหรับแต่ละประชาติในหมู่พวกเจ้านั้น เราได้ให้มีบทบัญญัติและแนวทางไว้” (๕ ; ๔๘)

ในมุมของอิสลาม มักวางทุกอย่างไว้บนรากฐานแห่งอัลกุรอ่านเสมอ ด้วยคัมภีร์เหล่านั้น คือ ความกระจ่างที่สุดในการตัดสินปัญหา และความเป็นสังคมโลกที่มีคนไม่เหมือนเรา หรือ เราไม่เหมือนเขามักร่วมอยู่ด้วยเสมอ

“โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติในหมู่ของพวกเจ้า ณ ที่อัลเลาะฮ์นั้น คือ ผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลเลาะฮ์นั้นเป็นผู้รู้รอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (49 ; 13)

นี่คือส่วนหนึ่งที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เมื่อ เราต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน นั่นก็คือ การไดอะล็อก หรือ การหาทางออกร่วมกันด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่าง เพราะ “ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม ในความต่างที่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน” มันคือคำถามที่หนักอึ้ง และเป็นภาระคนรุ่นใหม่อย่างเราต้องจัดการร่วมกัน

หาไม่แล้ว สิ่งเหล่านี้ คือ “มรดกแห่งความรุนแรงและความเกลียดชังที่จะพรากเพื่อนร่วมโลกไปอย่างน่ากลัวและจะกลายเป็นของขวัญอันน่าสยองนำไปสู่คนในรุ่นใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระทั่ง Asghar Ali Engineer ได้แลกเปลี่ยนใน “The Need For Inter-Religious Dialogueผ่านความจำเป็นที่สำคัญของการไดอะล็อกนั่นก็เพื่อ

ประการแรก เพื่อเรียกร้องให้คนเข้ามาสนใจประเด็นแห่งความต่างเพราะการไม่ให้ความสำคัญมักจะนำไปสู่ปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดความรู้สึกถึง “การไม่ใส่ใจผู้อื่นรอบข้าง

ประการที่สอง นำไปสู่ความกระจ่างของความไม่เข้าใจในประเด็นต่าง ๆ เพราะโดยมาก ความไม่เหมือนที่อยู่ท่ามกลางความหลากหลายมักนำไปสู่การเข้าใจผิดเสมอ ๆ

“ขุดรื้อโคนต้นและรากเหง้า แล้วจะเข้าใจถึงดอกและใบแห่งเรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม) เรียนรู้ผ่านกิ่งก้าน เกสรและเมล็ดผลที่มักฉายให้ประจักษ์ถึงสายพันธุ์แห่งเรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม) ซึมซับถึงสายเลือดที่โยงใย และเชื่อมร้อยให้เข้ากันระหว่างเรา(ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม) กระทั่งเรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม) ต่างสำนึกเหมือนกันผ่านพันธุ์ไม้ต่างก็มีที่มาจากสายตระกูลเดียวกัน แม้ดอกและใบที่ชูช่อจะเปล่งออกมาหลากสีและต่างกลิ่นก็ตาม”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น