วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2565

พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย กฎหมายที่ให้ความเป็นธรรม ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ทั้งหมด 4 ร่าง คือร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.), ร่างของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร, ร่างของ ส.ส.พรรคประชาชาติ และร่างของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยใช้ร่างของ ครม.เป็นหลัก

ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ที่มีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระสอง ตามรายมาตรา ซึ่งมีทั้งหมด 5 หมวด 34 มาตรา และบทเฉพาะกาล

โดยนายชวลิต เสนอรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีไว้ 2 ฉบับคือ

1.อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนในการบังคับให้หายสาบสูญ

2.อนุสัญญาการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มุ่งป้องกันและปราบปรามเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ให้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง ขณะเดียวกันมุ่งคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นร่างกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรม ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นายชวลิต กล่าวต่อว่า กมธ. ได้สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.บางส่วนดังนี้

1. มีการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้ายการกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2.กำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียงในการตรวจค้นในคดีอาญา และการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมตรวจค้นในคดีอาญา

3.องค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีความครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย แพทย์ทางนิติเวชและทางจิตเวชศาสตร์

4.กระบวนการสรรหาคณะกรรมการดังกล่าว กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา

5.ให้คดีตามพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นคดีพิเศษ และกำหนดให้หลายหน่วยงานเข้ามาร่วมสอบสวน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในด้านการดำเนินคดี และรวบรวมพยานหลักฐานให้ทันกับสถานการณ์และป้องกันการทำลายพยานหลักฐานสำคัญในคดี

โดยที่ประชุมมีมติในวาระสาม เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 359 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น