วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ชูยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ 18 ปี กับทางสว่าง บนโต๊ะเจรจา หนทางสู่สันติสุข

 

ชูยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ 18 ปี กับทางสว่าง บนโต๊ะเจรจา หนทางสู่สันติสุข

แม้เหตุการณ์ความสงบใน จชต.จะผ่านมาแล้ว 18 ปี แต่เหตุความรุนแรงยังคงเกิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลอบวางระเบิด สังหารเจ้าหน้าที่ ทำร้ายประชาชนคนบริสุทธิ์ เพื่อสร้างความหวาดกลัว

ขบวนการ แนวร่วม ของผู้ก่อเหตุในภาคใต้ยังมุ่งปลูกฝังอุดมการณ์ แนวคิดแบบผิดๆให้วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ เพื่อเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ทำให้สถานการณ์ภาคใต้ยังคงมีอยู่ แม้ฝ่ายรัฐพยายามเพื่อให้เกิดความสงบสุข


ฝ่ายรัฐพยายามนำปัญหา จชต.ขึ้นมาเจรจาบนโต๊ะ โดยมีคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับคณะผู้แทนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ BRN ที่มีความคืบหน้า เพื่อมุ่งสู่สันติภาพ ความสงบสุขในพื้นที่ จนอาจจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในเร็วๆ นี้

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังถูกหยิบหยกเป็นปัญหาหลักในเรื่องภัยความมั่นคงระดับชาติ ที่รัฐบาลและกองทัพยังต้องเผชิญอยู่ต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้จะลามเข้าสู่ปีที่ 18 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ "ค่ายปิเหล็ง" กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

แม้ 18 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาก็ยังเหมือนวนในที่เดิม ทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน ประชาชนในพื้นที่ ยังต้องอยู่แบบหวาดกลัว ขวัญผวา เพราะความรุนแรงนี้ยังไม่จางหายจากพื้นที่ได้ง่ายๆ เพราะหลายเหตุการณ์จากหลายพื้นที่ภาพของความรุนแรงมีให้เห็นเรื่อยมา ตอกย้ำถึงขบวนการ กลุ่มปฏิบัติการ ผู้ก่อเหตุ แนวร่วม ยังมุ่งที่จะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และพร้อมสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นกับฝ่ายรัฐและประชาชนแบบรายวัน โดยมุ่งให้เกิดความหวาดกลัว

เพราะความรุนแรงที่ทางฝ่ายแนวร่วมผู้ก่อเหตุ ไม่ยอมวางอาวุธ แม้ทางรัฐ กองทัพ พร้อมจะนำปัญหาเข้าสู่โต๊ะการเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพ ความสงบสุขในพื้นที่ แต่ผู้ก่อเหตุมักเข้าปลูกฝังแนวความคิดอุดมการณ์แบบผิดๆ ให้กับเยาวชน แนวร่วมรุ่นใหม่ โดยการยัดเยียดความคิดการแบ่งแยกดินแดนเป็นหลัก ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยังถูกฉุดมาเป็นประเด็นต่อเนื่อง

จึงกลายเป็นบททดสอบ และเป็นความพยายามของรัฐ กองทัพ ที่ต้องแสดงให้เห็นการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง ด้วยกลไกทั้ง 3 ระดับ ทั้งระดับนโยบาย การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ รวมทั้ง การกำหนดคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ เพื่อประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) ราชการส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อดำเนินงานตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ผ่านกลไกสภาสันติสุขตำบล

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ส่ง หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ พร้อมด้วยฝ่ายทหาร พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. เป็นตัวแทนเปิดโต๊ะเจรจาหารือกับคณะผู้แทนกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ BRN ที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ11-12 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา

กระทั่งกลับมาฝั่งไทย คณะเปิดโรงแรมหรูภูเก็ต เพื่อสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขผ่านทั้งออนไลน์ รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้การพูดคุยมีความคืบหน้า ต่อเนื่อง จนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการประชุมแบบ Face to Face โดยหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะผู้แทน BRN นำโดย อุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน และ นายตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ ผู้อำนวยความสสะดวกการพูดคุย และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์อีก 2 คน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย มีท่าที มีมิตรไมตรีต่อกัน

จนนำไปสู่การสรุปใน 3 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก คือ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยหารือ และเห็นพ้องกันในเรื่องหลักการทั่วไป ในกรอบ สารัตถะ 3 เรื่อง คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือของประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นไปตามเจตนารมณ์ และความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และครอบคลุมทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ การอยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่ การใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งอยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า อันจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขอย่างถาวร ยั่งยืนต่อไป

ประเด็นที่ 2 การจัดตั้งกลไก เพื่อมาขับเคลื่อนประเด็นสารัตถะของการพูดคุย โดยมีการพิจารณาที่จะจัดตั้ง ผู้ประสานงาน Joint working group ขึ้นมาในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะ ประเด็น การลดความรุนแรงและการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ ส่วนประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและละเอียดค่อนข้างมาก ก็จะใช้ลักษณะการจัดตั้ง Joint study group เข้ามาเพื่อศึกษาในรายละเอียดหาแนวทางที่เหมาะสม

ทั้งนี้ การจัดตั้งดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นแบบกึ่งทางการ ที่สามารถพบปะหารือติดต่อพูดคุย กันได้โดยตรง เพื่อกำจัดจุดอ่อนในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ที่ทำการประชุมอย่างเป็นทางการทำได้ค่อนข้างยาก การจัดตั้งลักษณะนี้ก็จะช่วยผลักดันให้ประเด็นสารัตถะต่างๆ คืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ประเด็นที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยได้หยิบยกขึ้นมา คือ การลดความรุนแรงลง ของทั้ง 2 ฝ่าย โดยความสมัครใจ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพูดคุยในครั้งต่อไป รวมทั้งต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการพูดคุยที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในพื้นที่

โดยในเรื่องนี้ พล.อ.วัลลภ เห็นว่า การขับเคลื่อนผลักดันให้กระบวนการพูดคุยเป็นหนทางที่สามารถสร้างสันติสุขในพื้นที่ ได้อย่างยั่งยืน พร้อมคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่กลุ่ม ขบวนการ BRN รวมถึงภาคประชาชน เพื่อมาแสวงหาทางออกร่มกันต่อไป โดยตลอดในห้วง 2 ปีที่มีการพูดคุยกับกลุ่ม BRN จากช่วงแรกที่มีความไม่วางวางใจกัน จนถึงขณะนี้เริ่มมีความเชื่อมั่นกันพอสมควร ผลจากการพูดคุยครั้งนี้ ถือว่ามีความก้าวหน้าที่ดีมาก นำมาสู่การกำหนดหัวข้อประเด็นสารัตถะกันได้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้กระบวนการพูดคุยดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

"1 ปีจากนี้ คาดว่าจะมองเห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะ การลดความรุนแรง และการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่หลังจากนี้ คณะพูดคุยจะต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบ คาดว่าภายใน 2 ปี นี้จะเห็นความคืบหน้าในการพูดคุยเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมืองได้ต่อไป" พล.อ.วัลลภ ย้ำความมั่นใจ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม หลังได้รับรายงานผลเจรจาถึงกับแสดงท่าทีออกมาว่า พอใจผลการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ จากนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยึดถือ 3 ประเด็น เป็นแนวทางในการพูดคุยระยะต่อไป คือ 1.การลดความรุนแรง 2.การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3.การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยจะมีกลไกการทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย การมีบุคคลผู้ประสานงาน และคณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายในแต่ละเรื่อง ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้การพูดคุยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คล่องตัว และเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

"ถือว่าทุกภาคส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพูดคุยในครั้งนี้ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเป็นข้อจำกัดในการเดินทางข้ามพรมแดน แต่ทั้งสองฝ่ายได้พยายามติดต่อสื่อสาร สานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จนสามารถผลักดันให้เกิดการพบปะพูดคุยได้จริง รัฐบาลปรารถนาที่จะสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่ดี เพื่อนำไปสู่การลดความรุนแรง การใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขตามความคาดหวังของประชาชน อันจะเป็นการแสดงถึงความคืบหน้าและประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้"

ขณะที่ภาพรวม "กองทัพภาคที่ 4" ยังพร้อมที่จะสร้างความมั่นคงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเร่งแก้ปัญหาต่างๆ ให้เกิดความราบรื่น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเน้นย้ำการปฏิบัติงานการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยประชาชนทุกคนจะต้องได้รับความยุติธรรมจากการดำเนินงานของรัฐ และเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ตามหลักสิทธิมนุษยชน

และบทบาทจากนี้ไป สันติสุขกำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหน่วยงานความมั่นคง ฝ่ายทหาร และกองทัพภาคที่ 4 จะขับเคลื่อนทุกกระบวนการพูดคุยเพื่อทำให้เกิดสันติสุขในพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อประชาชน คนพื้นที่ ได้อยู่อย่างสงบสุข กลับมาเป็นประเทศไทยผืนแผ่นดินเดียวกันที่มีแต่ความร่มเย็น

ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น