วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2564

คณะกรรมาธิการสิทธิ วุฒิสภา ลงพื้นที่ชายแดนใต้ เลขาฯ ศอ.บต. เผย ดูแล ประชาชนทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม

 

.เมื่อ 3 ธ.ค. 2564 ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา นำโดยนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมาธิการร่วมหารือหน่วยงานในพื้นที่ ณ ศอ.บต. โดยมีพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานต้อนรับและรายงานการดำเนินงานดูแลประชาชน จชต. ด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ

.สำหรับกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า มีการช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน ในการดำเนินกิจกรรมตามหลักความเชื่อ ศาสนาและวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกัน จัดตั้งศูนย์กลาง ‘ศูนย์ประสานงานในการช่วยเหลือ’ เป็นการเฉพาะ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการหรือสวัสดิการของรัฐ ลดอุปสรรคด้านภาษาในการเข้าถึงบริการภาครัฐ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ลดความขัดแย้ง และการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเพื่อให้หลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และโครงการอื่นๆที่ ศอ.บต. ดำเนินการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

.นอกจากนี้เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการตรวจสารพันธุกรรม DNA แก่คนไทยไร้สัญชาติ เป็นระยะเวลา 5 ปี ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ขณะนี้สามารถดำเนินการได้ทั้งสิ้น 256 คน ได้มอบบัตรประชาชนแล้ว 141 คน ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนดำเนินการ คนไทยไร้สัญชาติที่พบเจอในพื้นที่ บางครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ การศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้ารักษาตัวในสถานพยาบาล และสิทธิด้านอื่นๆในฐานะคนไทย โครงการนี้จึงเป็นโครงการสร้างชีวิตแก่คนไทยด้วยกันให้มีชีวิตใหม่ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำในประเทศและต่างประเทศ

.ด้านนายสมชาย แสวงการ ประธานกรรมาธิการ กล่าวว่าชื่นชมการดำเนินโครงการคนไทยพลัดถิ่น และโครงการตรวจสารพันธุกรรมฯ เป็นโครงการที่น่าสนใจในการนำคนไทยทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศหรือเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ จะสามารถกลับมามีสัญชาติไทยอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการสร้างชีวิตให้กับประชาชนอย่างแท้จริง สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ ได้ตรวจเยี่ยมสถานที่ส่วนราชการที่สำคัญหลายแห่ง รวมทั้งศูนย์ซักถาม ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เนื่องจากมีเสียงข้อกังวลจากภาคประชาสังคมและประชาชนในเรื่องความไม่ธรรม และการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งภายหลังได้มีการพูดคุยกับผู้ที่ถูกนำมาซักถาม ส่วนใหญ่พึงพอใจกับการอำนวยความสะดวกอีกทั้งยังมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดทุกจุดสำคัญ สำหรับการซ้อมทรมาน ยืนยันว่า ไม่มี ทั้งนี้คาดว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงมิติความรุนแรงในพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการ มีความหวังว่า จชต. จะกลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้งภายหลังได้หารือกับส่วนราชการในพื้นที่ในครั้งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น