วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2566

นายกฯเศรษฐา VS กมธ.สภา จับทิศสวนทางงานดับไฟใต้

ภาพถ่ายการพบปะหารือกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง นายกฯเศรษฐา ทวีสิน กับ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ สร้างกระแสวิจารณ์ได้ไม่น้อย

ไม่ใช่แค่ภาพนี้สมบูรณ์สวยงาม ทั้งองค์ประกอบ แสง สี อารมณ์ของภาพที่เน้น mood and tone ร่วมไม้ร่วมมือระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำรัฐบาล

แต่จากสารที่สื่อผ่านภาพ และสาระที่นายกฯเศรษฐาขยายความเพิ่มเติม สะท้อนจุดยืนของรัฐบาลชุดนี้ว่า ใช้กลไกของทหารและกองทัพในการแก้ไขปัญหาประเทศอย่างเต็มพิกัด ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สวนทางกับการเรียกร้องของพรรคการเมืองและประชาชนบางส่วนที่ให้ลดบทบาทกองทัพในงานอื่นที่ไม่ใช้งานป้องกันประเทศ ซึ่งเป็น “หน้างาน” ของทหารโดยตรงลง โดยเฉพาะภารกิจด้านการเมือง และหน้างาน “ดับไฟใต้” ที่กำลังสู่โหมดของการพูดคุยเจรจา จึงมองกันว่า “คนถืออาวุธ” ไม่ควรแสดงบทบาทนำ

แต่นายกฯเศรษฐา แสดงท่าทีตรงกันข้าม ตามที่เคยประกาศจุดยืนว่าจะให้เกียรติกองทัพ ไม่ด้อยค่า และใช้กลไกของกองทัพร่วมแก้ไขปัญหาของประเทศในทุกๆ ด้านต่อไป

“โดยปกติผมจะพบปะกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประจำอยู่แล้ว โดยวันนี้เป็นเรื่องรับทราบข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ แนวทางการทำงานกับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงของมาเลเซีย รวมถึงปัญหายาเสพติดที่จะทะลักเข้ามาจากเมียนมา ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง โดยทางทหารจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อปราบปรามยาเสพติดและสกัดการนำเข้าอย่างจริงจัง”

“นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเผาป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพึ่งฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างมาก”

“อีกเรื่องที่คุยกันในภาพรวม คือผมอยากให้ทหารมาช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องที่ดินทำกิน ช่วยดูแลปัญหาน้ำไม่ให้ท่วม ไม่ให้แล้ง รวมทั้งดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน นอกเหนือจากเรื่องความมั่นคงที่ท่านดูแลอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างทหารกับประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย”

เป็นคำสัมภาษณ์แบบยาวๆ ของนายกฯเศรษฐา ภายหลังเชิญผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2566 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที

กองทัพ : กลไกรัฐที่ต้องถูกตรวจสอบ?

พิจารณาจากท่าทีของนายกฯเศรษฐา น่าจะถูกใจและยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนนี้ เนื่องจาก พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นนักเรียนนอก มีหัวคิดสมัยใหม่ และทำงานสไตล์ “คิดเร็ว ทำเร็ว” เหมือนกัน

การให้เกียรติและแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการระดมสมอง ระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาประเทศ ไม่ใช่เรื่องผิด และเป็นแนวทางที่นายกฯเศรษฐายึดมั่นมาตลอด

แต่สิ่งที่สังคมบางส่วน และกลุ่มการเมืองบางกลุ่มมองอย่างไม่สบายใจ เพราะสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย นอกจากทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น ก็คือ การตรวจสอบการทำงานของกองทัพ, ความชอบธรรมในการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษต่างๆ รวมถึงความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ และความเหมาะสม คุ้มค่าในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

ที่สำคัญคือการลดบทบาทในงานความมั่นคงภายใน โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะความขัดแย้งของคนในชาติเดียวกัน นานาอารยประเทศใช้ตำรวจ หรือฝ่ายพลเรือนเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่ทหาร

ยิ่งการยุ่งเกี่ยวข้องแวะในทางการเมืองด้วยแล้ว ชาติตะวันตกและสหรัฐยอมรับไม่ได้เลย

ชงตั้ง กมธ. - สภาขอมีเอี่ยวพูดคุยดับไฟใต้

พิจารณาจากองคาพยพในประเทศของเราเอง ในขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯเศรษฐา เดินในทิศทางที่เห็นและเป็นอยู่นี้

แต่ในปีกของฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการวิสามัญของสภา กลับปักหมุด กำหนดแนวทางในภารกิจดับไฟใต้ไปคนละทิศอย่างสิ้นเชิง

อย่างการประชุมในหัวข้อ “การสร้างความเข้าใจรากเหง้าความขัดแย้ง และกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” ที่อาคารรัฐสภา ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) เมื่อเร็วๆ นี้นั้น

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ. เผยว่า บทบาทของรัฐสภาต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (คณะพูดคุยที่รัฐบาลตั้งขึ้น ใช้ชื่อว่า คณะพูดคุยสันติสุขฯ) ควรจะมีคณะกรรมการของสภา และควรจะมีกฎหมายอะไรที่เอื้อต่อการพูดคุยสันติภาพ และทำให้การพูดคุยสันติภาพสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ โดยปรับการทำงานของฝ่ายบริหารเพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นเอกภาพและมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ทำงานเต็มเวลา

ทั้งนี้เพราะ กมธ.เห็นปัญหาที่ยังไม่เป็นเอกภาพ ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดระบบการทำงาน และคงต้องศึกษาต่อไปว่าระบบการทำงานที่จะเป็นประโยชน์ควรเป็นอย่างไร

รวมถึงขจัดอุปสรรคต่อการเดินหน้าคุยสันติภาพที่ปราศจากความหวาดกลัว และนำขึ้นสู่ความเป็นสากล เพราะเห็นว่ายังมีอุปสรรคในเรื่องนี้ และมีความเห็นที่แตกต่างกัน เช่น ควรจะมีการลงนามหรือไม่, ควรจะทำให้การพูดคุยเป็นทางการหรือไม่

“เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลตั้งคณะทำงานพูดคุยสันติสุขฯขึ้นมาแล้ว แต่เป็นข้าราชการทั้งหมดและหัวหน้าคณะเป็นพลเรือน ซึ่งเราคงแลกเปลี่ยนกับคณะนี้ และเห็นว่าควรจะมีองค์กรหรือคณะกรรมาธิการเฉพาะที่จะช่วยส่งเสริมผลักดัน ติดตามการทำงานการพูดคุยสันติภาพเป็นการเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติจะจำกัด แม้แต่การรับรู้ความคืบหน้าต่างๆ ก็มีน้อย”

ทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษ – ปรับทิศ “งบดับไฟใต้”

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า กมธ.สันติภาพชายแดนใต้จะร่างข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป คาดว่ากลางเดือน ม.ค.ปีหน้าน่าจะมีข้อสรุปบางส่วนออกมา รวมถึงข้อสรุปในข้อบัญญัติและการแก้ไขกฎหมายที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพโดยรวม ซึ่งมีข้อเสนอเรื่องการออกกฎหมายใหม่ การแก้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยจะมีการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการทำให้เกิดความสงบ การอยู่ร่วมกันของประชาชนในพื้นที่อย่างมีสันติสุข

นอกจากนี้ ยังต้องศึกษาถึงการปรับงบประมาณให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี และสอดคล้องกับแนวทางทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาจะได้ยินตัวเลขการใช้งบประมาณในหลายปีเป็นจำนวนสูงถึง 5 แสนล้านบาท รวมทั้งการจัดงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน

และที่สำคัญ งบประมาณที่เกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรจะสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ เพื่อเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

องค์กรดับไฟใต้ทำงานลักลั่น ถือกฎหมายคนละฉบับ

“กมธ.ชุดนี้ สภามอบหมายให้ทำงาน 90 วัน แต่จากที่ฟังผู้เชี่ยวชาญ มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องขยายเวลา” นายจาตุรนต์ เอ่ยถึงทิศทางการทำงานซึ่งอาจยาวนานกว่า 90 วันตามกรอบเวลาที่กำหนด

และว่า หลังจากนี้จะทำ 2 ส่วน คือ ตั้งหัวข้อในการศึกษาพิจารณาที่ชัดเจน และจะมีการรับฟัง, ลงพื้นที่ โดยต้นเดือนหน้าจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2-3 ครั้ง และให้อนุกรรมาธิการไปรับฟัง และคาดว่าจะทยอยมีข้อสรุปที่เป็นข้อเสนอในประเด็นใหญ่ๆ ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทีมงานเพื่อร่างข้อเสนอ

"การตั้งคณะพูดคุยฯ เป็นส่วนหนึ่งที่คงจะศึกษาดูว่า มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร โดยจะเชิญผู้มีประสบการณ์จากการพูดคุยทุกชุดมาให้ความเห็นในสัปดาห์หน้า”

“และอีกส่วนคือการจัดการบริหารความรับผิดชอบการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ส่วนหนึ่ง และหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบบัญชาการโดยนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีระบบในการประสานเชื่อมโยงองค์กรเหล่านี้เข้าด้วยกัน ทำให้แต่ละหน่วยงานหรือกฎหมายคนละฉบับ ศอ.บต.ก็ฉบับหนึ่ง กอ.รมน.ก็ฉบับหนึ่ง สภาความมั่นคงแห่งชาติก็อีกฉบับหนึ่ง ขณะที่กองทัพก็มีกฎอัยการศึก และยังเป็นหัวหน้า กอ.รมน.ในภาคใต้ด้วย จึงเห็นปัญหาการลักลั่นไม่มีการประสานงาน"

ไม่ปิดทาง ยุบ กอ.รมน. - หารูปแบบปกครองพิเศษ

ส่วนที่พรรคก้าวไกลเสนอยุบ กอ.รมน.นั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า กมธ.ได้ยินเรื่องนี้มาแล้ว และได้เห็นปัญหาความลักลั่น ความไม่เป็นเอกภาพ หรือไม่มีระบบประสานงาน ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งที่จะศึกษาถึงระบบประสานงานที่ดี องค์กรที่เหมาะสมที่จะรับผิดชอบกฎหมายที่จะใช้ควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ และใช้นโยบายในการแก้ไขปัญหา

ในเรื่องข้อเสนอพื้นที่ปกครองพิเศษนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจในรูปแบบการบริหารการปกครองพื้นที่ที่เหมาะสม กฎหมายที่เอื้อต่อกระบวนการสร้างสันติภาพและการพูดคุย จะต้องมีการศึกษาหาข้อมูลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาข้อสรุปของ กมธ. ซึ่งเป็นเรื่องของทั้งประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจในปัจจุบันที่ดูเหมือนจะถอยหลัง

“รูปแบบการปกครองพิเศษของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไร แต่ต้องแตกต่างจาก กรุงเทพมหานคร หรือพัทยา ที่จะต้องหาสมดุลที่เกิดการกระจายอำนาจที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรจะได้รับ”

“เช่นเดียวกันกับหลายจังหวัดที่ควรจะมีการกระจายอำนาจมากขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งการกระจายอำนาจพิเศษเป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษา โดยที่สังคมควรจะต้องรับรู้ปัญหาความขัดแย้ง กระบวนการสร้างสันติภาพจึงต้องมีการดำเนินการในหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องของการมีกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เรื่องกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสมกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” นายจาตุรนต์ อธิบาย

เมื่อประมวลประเด็นที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะเสนอผ่าน กมธ.แล้ว สวนทางกับทิศทางที่รัฐบาลกำลังทำอย่างชัดแจ้ง

ปัญหาคือจะหาจุดลงตัวได้หรือไม่ อย่างไร หรือรัฐบาลกับสภาก็ยังจะเป็นอีก 2 องคาพยพที่ต่างฝ่ายต่างทำกันต่อไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น