วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ผวจ.ยะลา เปิดจวนผู้ว่าฯ นำร่องเปิดแปลงต้นแบบการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ขับเคลื่อน กิจกรรม "ปลูกด้วยรัก เลี้ยงด้วยใจ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" โดยใช้พื้นที่ว่างภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา จัดทำแปลงต้นแบบการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงระดับครัวเรือนขึ้นโดยมีการทำแปลงปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ประกอบด้วย แปลงปลูกพืชผัก ประเภทผักใบ เช่น ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกุยช่าย แส้ ผักกาดขาว ผักให้ผล เช่น แตงกวา มะเขือ พริก ถั่วฝักยาว ประเภทผักยอด เช่น ผักเหรียง มันปู ผักหวาน และสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ข่า มีกิจกรรมการปลูกผักไฮโดรโปนิกขนาดเล็ก เช่น ผักคะน้า นอกจากนี้ยังมีการกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ อาทิ ไก่เบตง กิจกรรมการเลี้ยงปลา ซึ่งมีปลาหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลานิล

นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า การจัดทำแปลงเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขึ้นภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นการแสดงเจตนาและความมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายเกษตรนำการท่องเที่ยวของจังหวัดยะลา และเพื่อใช้เป็นแปลงต้นแบบการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในระดับครัวเรือนให้กับประชาชนชาวยะลา นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปได้ดูเป็นต้นแบบ นำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน


ซึ่งการทำเศรษฐกิจพอเพียงในระดับครัวเรือนสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่มีอยู่ในแต่ละครัวเรือนได้ ครอบครัวที่มีพื้นที่จำกัดอาจเลือกทำเฉพาะกิจกรรมปลูกพืชผัก ครอบครัวที่ไม่มีพื้นที่อาจจะปลูกพืชผักในกระถาง หรือภาชนะเหลือใช้ต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสม หรือครอบครัวที่มีพื้นที่มากสามารถทำกิจกรรมปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา ในรูปแบบเกษตรผสมผสาน ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคสามารถแบ่งปันเพื่อนบ้าน หรือจำหน่ายมีรายได้เพิ่มขึ้น

โดยประโยชน์ของการทำกิจกรรมเกษตรระดับครัวเรือน คือ การมีอาหารที่ดี ปลอดภัย รับประทานในครอบครัว สามารถลค่าใช้จ่ายได้ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของครัวเรือนจังหวัดยะลาในภาพรวม นอกจากนี้ การทำกิจกรรมร่วมกันช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว ฝึกให้ลูกหลาน ช่วยพ่อแม่ หรือผู้สูงอายุ ทำให้เกิดความรักความผูกพัน ภายในครอบครัว เมื่อครอบครัวอบอุ่นปัญหาสังคมก็ลดน้อยลง

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนกิจกรรมเกษตรในครัวเรือนเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือการปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน (SDGs) เป็นการทำงานสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน .../

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น