วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565

สสว. จับมือ ศอ.บต. และจังหวัดยะลา คัดเลือกผู้ประกอบการ SME ส่งเสริม สนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่

สสว. จับมือ ศอ.บต. และจังหวัดยะลา คัดเลือกผู้ประกอบการ SME ส่งเสริม ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่  ภายใต้การช่วยเหลือ อุดหนุนค่าใช้จ่าย จาก สสว. 

เมื่อ 21 ธันวาคม 25650 ที่ห้องประชุม ชั้น 2 ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร  เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิด กิจกรรมการเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญจาก GURU/ผู้เชี่ยวชาญ/ปราชญ์ เพื่อสนับสนุนการส่งเสริม SME ในช่องทาง Online & Offline กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ภายใต้งานศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME One-Stop Service Center : OSS) ปีงบประมาณ 2566 โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับ ศอ.บต. และจังหวัดยะลา เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการ SME กว่า 300 สถานประกอบการในการประสาน ส่งต่อ และติดตามผลผ่านศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร แบ่งเป็น 3 หมวด ประกอบด้วย

1. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน

2. การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ

3. การเข้าถึงด้านการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับคำปรึกษาและพัฒนาเชิงลึก จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน


โดยมีหน่วยร่วมบูรณาการ เช่น หอการค้าจังหวัดยะลา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดยะลา สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา สมาพันธ์ SME แห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา สาธารณสุขจังหวัดยะลา (อย.) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา (ฮาลาล) ธนาคาร SME สาขายะลา ธนาคารออมสินสาขายะลา และสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม (TMTA)

โดยมี นายวีระพงศ์ มาลัย  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นายชาวันย์  สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ SME และสื่อมวลชน เข้าร่วมจำนวนมาก


ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร  เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สิ่งที่ ศอ.บต. ได้พบเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ หรือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม หรือ SME ที่อยากให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น พัฒนาคุณภาพของการผลิต โดยเน้นเรื่องมาตรฐาน อย. หรือฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และช่องทางการตลาด ช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และสำหรับกิจกรรมการเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญจาก GURU/ผู้เชี่ยวชาญ/ปราชญ์ เพื่อสนับสนุนการส่งเสริม SME ในช่องทาง Online & Offline ในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก เพราะเป็นการหนุน เสริม SME และการรักษามาตราฐานการผลิตโดยตรง และที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้ร่วมมือกับ สสว. และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการขับเคลื่อน SME ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตลอด โดยมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของผู้ประกอบการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้าชายแดน ภาคการผลิต การแปรรูป การค้าและการบริการ การหาตลาดช่องทางจำหน่าย การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเชิงประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้หากได้รับการแก้ไข และพัฒนาแล้ว จะทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสร้างช่องทาง หาโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับตนเอง และ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวสูงขึ้น ก็ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจและสังคมลดลงต่อไป

ด้าน นายวีระพงศ์ มาลัย  ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ภายในงานนอกจากจะมีกิจกรรมการเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญจาก GURU/ผู้เชี่ยวชาญ/ปราชญ์ สนับสนุนการส่งเสริม SME ในช่องทาง Online & Offline แล้ว ยังมีการเผยแพร่ มาตรการการช่วยเหลือ อุดหนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ ที่มีรูปแบบการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SME สามารถที่จะเลือกรับบริการ หรือการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้ตรงกับเป้าหมายและความต้องการทางธุรกิจของตนเอง ภายใต้การช่วยเหลือ อุดหนุนค่าใช้จ่าย จาก สสว.  คือ“มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน” โดย สสว. จะช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมด้วยช่วยจ่าย (Co-Payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 ตามขนาดของธุรกิจ ซึ่งมีวงเงินสูงสุดถึงรายละ 200,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมา สสว. ได้มีมาตรการและโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  โดย สสว. ได้พัฒนาระบบขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการSME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในชื่อ Thai SME GP เพื่อเป็นช่องทางหลักให้ SME ได้สามารถเข้าถึงตลาดภาครัฐ และได้รับสิทธิประโยชน์ที่ช่วยให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ อีกหนึ่งมาตรการที่ สสว. กำลังเริ่มดำเนินการ คือ การพัฒนาและยกระดับระบบสนับสนุนและเชื่อมโยงระบบนิเวศเพื่อการประกอบธุรกิจ โดยดำเนินโครงการ One ID ด้วยการพัฒนาระบบ Single Sign On เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ SME ให้สามารถเข้าถึงการส่งเสริมสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐได้สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงยิ่งขึ้นในการนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น