จังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นพื้นที่พิเศษ ที่จะต้องใช้กระบวนการทำงานด้วยความละเอียดอ่อน
เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีทั้งบุคลากรหน่วยงานของรัฐ และประชาชนในพื้นที่
โดยน้อมนำ ยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาปรับใช้ในพื้นที่
ดร.สุเมธ
ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายพิเศษ “ยุทธศาสตร์พระราชทาน
เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา กับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
ในการประชุมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามกลไกประชารัฐ ครั้งที่ 9
(1/2562) ที่จังหวัดนราธิวาส ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีประชาชนทั่วไป
เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมงาน จัดโดย สำนักงาน
คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า (สำนักงาน คปต.
ส่วนหน้า)
ดร.สุเมธ
กล่าวบรรยายตอนหนึ่ง ว่าด้วย ยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
เราควรน้อมนำยุทธศาสตร์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน และแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ
รวมทั้งการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความสุข สงบ สันติ สมานฉันท์
และความเจริญที่ยั่งยืน โดยยกตัวอย่างบางส่วน ดังนี้
เข้าใจ
: เข้าใจเขา – เข้าใจเรา
เข้าใจเขา คือเข้าใจในความหลากหลายของสังคมให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ได้แก่ การเข้าใจสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นเป็นอย่างไร เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจทางด้านกายภาพ
ด้านจารีตประเพณีและวัฒนธรรม เคารพให้เกียรติในประเพณีและวัฒนธรรมของคนต่างศาสนิก
รวมถึงสภาวการณ์ ต่างๆ ด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ เป็นต้น
สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้
ต้องเข้าใจว่า อะไรที่เป็นเงื่อนไขทำให้เกิดปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งในมิติภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สภาพสังคมวัฒนธรรม จารีตประเพณีท้องถิ่น
และวิถีชีวิต
เข้าใจเรา คือในระหว่างการดำเนินการนั้น
ต้องทำให้ผู้ที่เราจะไปทำงานกับเขาหรือทำงานให้เขานั้น “เข้าใจ เราด้วย” เพราะถ้าเราเข้าใจเขาแต่ฝ่ายเดียว
โดยที่เขาไม่เข้าใจเรา ประโยชน์คงจะไม่เกิดขึ้นตามที่มุ่งหวัง
สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้
ต้องให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจเรา
ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าต้องการเข้าไปช่วยเหลือ และความจริงใจในการแก้ไขปัญหา
สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่เชื่อมั่นในนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหา
ในส่วนของข้าราชการ
ต้องเข้าใจด้วยเช่นกัน การทำงานต้องได้รับความร่วมมือกันกับประชาชน
หน่วยงานองค์กรและกระทรวงต่างๆ
อีกทั้งการแสวงหาความรู้ การทำประชาพิจารณ์
และการเข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ ทั้งนี้การทำโครงการต่างๆ จะต้องคำนึงถึงว่า คนส่วนมากได้รับประโยชน์มากที่สุด
รับฟังปัญหา เคารพความเห็นต่าง มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้
ต้องรับฟังความเห็นของผู้อื่น
เคารพความคิดที่แตกต่าง ทำงานอย่างผู้รู้จริง ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
การทำตามลำดับขั้น แก้ปัญหาที่จุดเล็ก-ไปสู่ใหญ่ เน้นความต้องการของประชาชน และต้องเข้าใจในพื้นที่ เข้าใจภูมิภาค
ไปจนถึงเข้าใจชุมชน
เข้าถึง
คือ
เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ต้องเข้าถึง เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้
และเมื่อเข้าถึงแล้วจะต้องทำอย่างไร ให้เขาอยากเข้าถึงเราด้วย
สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้
ต้องเข้าถึงพื้นที่และประชาชนในพื้นที่ ตามกระบวนการทำงาน
ทำให้ทราบถึงลักษณะของพื้นที่ และความรู้สึกนึกคิด ปัญหาต่างๆ ของคนในพื้นที่
วัฒนธรรม จารีตประเพณี และเขาก็ต้องเข้าถึงเราด้วย
โดยต้องทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เข้าใจและไว้วางใจ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปรึกษาหารือร่วมกัน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำศาสนา
ผู้นำชุมชน และคนในพื้นที่
ดังนั้น
การเข้าถึง : ต้องคำนึงถึง “ภูมิสังคม”
ซึ่งหมายถึง
ภูมิศาสตร์
: ธรรมชาติ ภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ดิน - น้ำ - ลม - ไฟ
สังคมวิทยา
: คน อุปนิสัย ภูมิปัญญา ค่านิยม วัฒนธรรมประเพณี
นอกจากนี้
ต้องเข้าถึงการวางระบบบริหาร เช่น บริการที่จุดเดียว เข้าถึงอิสระและเสรีภาพ
กระบวนการยุติธรรมจากรัฐ พร้อมทั้งการส่งเสริมคนดีและคนเก่งด้วย
พัฒนา :
เมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ต่างฝ่ายเข้าถึงกันแล้ว
การพัฒนาจะเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ให้และผู้รับ
สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นเรื่องของการเข้าใจปัญหา และสาเหตุของปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
บนหลักของสันติ ความจริงใจ ความกล้าหาญ ความเสียสละ
โดยการใช้ทักษะการบริหารจัดการที่สามารถรวมเอาปัจจัยต่างๆ เช่น ทุน คน องค์ความรู้
เทคโนโลยี ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ มาทำให้สังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น
เจริญขึ้น และมีความสงบ สันติสุขเกิดขึ้น
ทั้งนี้
ขอให้เน้นการมีส่วนร่วม ประชาพิจารณ์ รู้ รัก สามัคคี ทำงานแบบองค์รวม
มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก ไม่ติดตำรา ทำให้ง่าย
เพื่อมุ่งพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน
น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน
ดร.สุเมธฯ
กล่าวอีกว่า “ต้องการให้พวกเราน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน”
จึงได้กล่าวถึงคำจำกัดความ ดังนี้
“เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ
ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ
ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ
เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์”
ความพอเพียง
หมายถึง
ความพอประมาณ ความมีเหตุผล
รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ
อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้
ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ
มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน
จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ
นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต
และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา
และความรอบคอบ
เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ดร.สุเมธ
สรุปการบรรยายในครั้งนี้ ว่า การน้อมนำความรู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
9 พระราชทานในการปฏิบัติงาน จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
ความเจริญของส่วนรวม
ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น