การเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นในประเทศไทยเนื่องจากเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
ประกอบด้วยผู้นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดวิถีชีวิตประจำวันที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการใช้ภาษาทั้งไทยและมลายู
ในด้านการศึกษาก็มีทั้งโรงเรียนตาดีกาและปอเนาะ
ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีบทบาทสำคัญมากต่อเด็กที่นี่ และมักมีคำถามว่า เรียนอะไร? อย่างไร?
โดยทั่วไปเราจะรู้จักระบบการเรียนขั้นพื้นฐานว่ามีโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ
โดยโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในแต่ละพื้นที่จะปรับรายละเอียดการสอนให้เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่
ใน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีระบบการเรียนนี้เช่นกัน
และมีการปรับรูปแบบบางอย่างให้เข้ากับท้องถิ่น ซึ่งเป็นรูปแบบพหุวัฒนธรรมของผู้นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม
เช่น การอ่านอัลกุรอานแบบกีรออาตีย์ โดยเน้นความเข้าใจที่ถูกต้อง
เพื่อให้ปฏิบัติศาสนกิจได้ถูกต้อง การแต่งกายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิม
การปรับนี้ไม่มีผลกระทบกับนักเรียนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธ
แต่ระบบการเรียนที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆอย่างชัดเจนก็คือโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
(สช.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในพื้นที่อื่นๆ จะได้แก่โรงเรียนเอกชน แต่ในพื้นที่ 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมี 3 ระบบการเรียนหลัก คือ
โรงเรียนตาดีกา สถาบันปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
“ตาดีกา” โรงเรียนจริยธรรมวันหยุด
โรงเรียนตาดีกาหรือศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด
เป็นโรงเรียนสอนจริยธรรม ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ คือ
สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล มีโรงเรียนตาดีกาทั้งหมด 2,083 แห่ง เปิดสอนเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลาม อายุระหว่าง 5-12 ปี ในวันเสาร์-อาทิตย์ให้กับ
ส่วนมากจะสอนในชุมชนหรือมัสยิดที่เยาวชนเดินทางไปเรียนได้อย่างสะดวกไม่ไกลเกินไปนัก
นายแวดาโอะ
หะยีซาเม๊าะ ประธานตาดีกาจังหวัดยะลา อธิบายรูปแบบการเรียนการสอนว่า
โรงเรียนตาดีกาเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้นให้กับเด็ก เน้นการสอนจริยธรรม
การอ่าน-เขียน ภาษามลายู รวมถึงการประกอบศาสนกิจ
โดยผู้นำชุมชนและอาสาสมัครในชุมชนเป็นผู้สอน
“เพื่อให้เด็กมีจริยธรรม เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของชาวมลายู
เนื่องจากการเรียนในโรงเรียนปกติในช่วงวันจันทร์-ศุกร์นักเรียนได้เรียนภาษาไทยอยู่แล้ว
ดังนั้นจึงเน้นเรียนภาษามลายูและหลักศาสนาเป็นหลัก” นายแวดาโอะ กล่าว
"สถาบันปอเนาะ" ผลิตครูสอนศาสนา
ปอเนาะเป็นสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามในรูปแบบดั้งเดิม
ในพื้นที่ 5 จังหวัดมีทั้งหมด 441 แห่ง
โดยเน้นการศึกษาหลักศาสนาอิสลาม แต่เดิมผู้เรียนจะเรียนในกระท่อมจึงเป็นที่มาของการเรียกว่า
"ปอเนาะ" เปิดรับผู้เรียนตั้งแต่ช่วงวัยเด็กและเรียนไปได้ตลอดชีวิต
เนื่องจากเน้นการสอนศาสนา มีผู้ดูแลคือโต๊ะครูหรือ "บาบอ" ผู้มีความรู้
สอนแบบไม่แบ่งแยกชั้นและอายุ เรียนอย่างเรียบง่าย โดยการสอนหลักศาสนา
การอ่านคัมภีร์ตลอดจนการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตประจำวัน
บาบอ
อัสมัน สิเดะ เจ้าของสถาบันศึกษาปอเนาะมะฮัดดารุลเราะห์นะห์ ต.มะนังตาลำ อ.สายบุรี
จ.ปัตตานี เล่าว่า การเรียนการสอนของสถาบันปอเนาะจะนั่งเรียนกับพื้น
เพื่อสอนให้เด็กรู้จักถ่อมตน ไม่แบ่งชั้นสูงชั้นต่ำ การเรียนโดยหลักคำสอนของศาสดา
คือเป็นการเรียนไปตลอดชีวิต เริ่มตั้งแต่คลอดจากท้องแม่จนถึงสิ้นชีวิต โดยยึดหลัก 3
ประการ คือ ต้องศึกษาหาความรู้ ต้องนั่งฟังคนที่ให้ความรู้หากไม่มีโอกาสเรียน
และการสอนผู้อื่น กิจกรรมการเรียนในแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่เวลา 04.00 น.เพื่อสวดมนต์ขอพรจากองค์พระอัลเลาะห์ มีละหมาด 5
เวลา ฝึกวิชาชีพ และเรียนจนถึงเวลา 22.00 - 24.00 น.
ก็จะพักผ่อน
ผู้ที่เรียนปอเนาะเป็นหลัก
หลังจบการศึกษาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญศาสนาได้รับความนับถือจากชุมชนและเป็นผู้นำในการประกอบพิธีทางศาสนาหรือ
“อิหม่าม” ซึ่งมีภารกิจในการเผยแพร่ศาสนาต่อไป ด้วยการเปิดสถาบันปอเนาะและผันตัวเองไปเป็นครูผู้สอน
โดยครูผู้สอนจะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญ
มีความเข้าใจในแก่นแท้ของศาสนาอย่างแท้จริง จนสามารถไปเผยแพร่ต่อได้แล้วหรือไม่
“ปอเนาะเป็นที่รองรับเด็กทั้งหมดทั้งที่เรียนสามัญและเด็กที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา
และเป็นสถานที่กลั่นกรองให้คนสะอาด
แต่ขณะนี้มีความแตกต่างจากสมัยก่อนที่เรียนกันถึง 20 ปี
แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไปจะเรียนไม่ถึง 20 ปี
ส่วนใหญ่จะเรียนอย่างมาก 16 ปี
แต่ปัจจุบันจะเรียนโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ราวๆ 7 ปี
ซึ่งยากต่อการไปเปิดสถาบันปอเนาะหรือเผยแพร่ต่อ” บาบอ อัสมัน สิเดะ กล่าว
ฮิตสุด
"รร.เอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่สามัญ"
สภาพสังคมปัจจุบันทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียนสิ่งที่จะนำไปประกอบอาชีพได้
ความต้องการเรียนวิชาการสายสามัญจึงมากขึ้น
ขณะเดียวกันได้เรียนศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจพร้อมกันไปด้วย โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการนี้ที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเปิดสอนในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
ถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนมากที่สุดในพื้นที่ 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือราวร้อยละ 60 ของโรงเรียนทั้งหมด
เนื่องจากสอดคล้องกับวัฒนธรรมและศาสนาของประชาชนในพื้นที่
ซึ่งมีทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลางไปจนถึงโรงเรียนขนาดเล็ก
ดาโต๊ะ
นายนิเดร์ วาบา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา จ.ปัตตานี บอกว่า
การเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาปัจจุบันพัฒนาจากอดีตอย่างมากเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากชุมชนเป็นอย่างดี
โดยมีการเรียนทั้งวิชาสามัญและศาสนา
นายสุวิทย์
บูรณศิลป์ หรือ อุซตะอาลี ครูโรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา จ.ปัตตานี
อธิบายถึงการจัดการศึกษาที่โรงเรียนว่า ครอบคลุมทุกสาระวิชาในสัดส่วนร้อยละ 50 โดยคาบเรียนช่วงเช้าจะเรียนวิชาศาสนาในเวลา 08.20 -12.20 น. ประกอบด้วย 3 สาระสำคัญ คือ 1) สาระศาสนา ประกอบด้วย อัลกุรอาน อัลฮาดิษ ฟิกส์ 2) สาระสังคม
ประกอบด้วย ประวัติศาสตร์อิสลาม อัคลาส และ 3) สาระหลักภาษา
ประกอบด้วย ภาษาอาหรับ ภาษามลายู
ช่วงบ่าย
13.10
-16.00 น. จะเรียนวิชาสามัญ เช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไปคือ ภาษาไทย
สังคม อังกฤษ วิทยาศาสตร์
และจะมีห้องพิเศษหรือห้องต้นแบบที่จะเน้นด้านวิชาการเพิ่มเติมในช่วงวันเสาร์
เพื่อให้นักเรียนสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
“นักเรียนเรียนสายสามัญเพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคตและเรียนศาสนาเพื่อควบคุมการประกอบอาชีพให้อย่างสุจริต
โดยโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเป็นโรงเรียนที่สร้างมาเพื่อช่วยเหลือรัฐในส่วนที่รัฐไม่สามารถจัดการเรียนการสอนครอบคลุมได้ทั้งหมด
ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของโรงเรียน” นายสุวิทย์ระบุ
โรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยยืนยันว่านักเรียนมีผลสำเร็จการศึกษา
เห็นได้จากการที่แต่ละปีมีนักเรียนที่สอบเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมาก
เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งมีทั้งคณะแพทยศาสตร์
วิศวกรรมศาสตร์ และสาขาอื่นๆ รวมถึงการไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย
ออสเตรเลีย เป็นต้น และมีศิษย์เก่าของโรงเรียนประกอบอาชีพในหลากหลายสาขาวิชาในพื้นที่ทั้งแพทย์
ตลอดจนนายอำเภอในพื้นที่ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น