วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565

RAJA KITA : สถาบันกษัตริย์ กับเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

สำนักข่าวอะลามี่ : สำหรับคำว่า เมาลิด มาจากภาษาอาหรับ หมายถึงวันเกิด หรือวันประสูติ โดยการจัดงานเมาลิดของมุสลิมนั้น หมายถึงการจัดงานเฉลิมฉลอง และรำลึกถึงท่านศาสนทูตมูฮัมหมัด(ซล.) ผู้เป็นศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม ซึ่งมีการจัดกันทั่วโลก

งานเมาลิดตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งนับแบบจันทรคติ โดยมักจะจัดในประเทศอียิปต์และในประเทศมุสลิมอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย เป็นต้น

ในประเทศไทยนั้นมีการจัดงานมาอย่างช้านาน แต่เริ่มเป็นกิจจะลักษณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 5 โดยใช้ชื่อว่า “งานเมาลิดกลางสนามหลวง” ซึ่งจัดงานฉลองดังกล่าว ที่ท้องสนามหลวง เพื่อสนับสนุนกิจการศาสนาอิสลาม ในราชอาณาจักรและได้พระราชทาน เสื้อคลุมกับอิหม่าม ในการประกอบศาสนกิจ

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังมีการจัดงานเมาลิด โดยใช้ชื่อว่า “งานเมาลิดส่วนกลาง” ต่อมาก็ได้หยุดไประยะหนึ่ง และได้รื้อฟื้นการจัดงานนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.2506  โดยนายต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน

ซึ่งในครั้งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “งานเมาลิดกลาง” และปีใดที่ทรงติดภารกิจก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์เป็นประจำทุกปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ งานเมาลิดกลาง และได้มีพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จฯ ในงานเมาลิดกลางเกือบทุกปี ระหว่าง พ.ศ.2507 – 2513 ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ในงานเมาลิดกลางทุกปี

1. พระราชดำรัสในโอกาสเสด็จ ฯ ในงานเมาลิด ส่วนกลาง ปี ฮ.ศ. 1384 วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2507 ณ ลุมพินีสถาน

“ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มาร่วมงานฉลองทางศาสนาอิสลามในวันนี้ และมีความปิติ ที่ได้มาพบกับท่านทั้งหลายอีกวาระหนึ่ง ท่านนบีมูฮัมหมัด ผู้เป็นตัวแทนศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม เป็นมหาบุรุษคนหนึ่งได้ทำคุณประโยชน์แก่โลก พระองค์ท่านสรรเสริญยกย่องความฉลาด ความไตร่ตรองรอบคอบ และความบริสุทธิ์ทั้งใจและกาย ว่าเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิต ฉะนั้น ขอให้ท่านทุกคนจงพยายามปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่าน เพื่อจะได้ประสบความสุขความเจริญ ขอให้งานที่จัดขึ้นนี้ เป็นผลดีสมตามปณิธานของท่านทั้งหลาย”

2. พระราชดำรัสในโอกาส เสด็จ ฯ ในงานเมาลิดกลาง ฮ.ศ. 1385 วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2508

“ข้าพเจ้าและพระราชินี มีความยินดีที่ได้พบกับท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ระลึกสำคัญทางศาสนาอิสลาม ในวันนี้ ขอขอบใจในไมตรีจิตของท่านที่แสดงต่อข้าพเจ้า ในโอกาสนี้ ท่านนบีมูฮัมมัด ผู้เป็นศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม เป็นบุคคลสำคัญของโลก ได้ทำคุณประโยชน์แก่มหาชนไว้เป็นอันมาก การที่ท่านทั้งหลายจัดงานวันฉลองวันสมภพของท่าน เพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติ และหลักธรรมของท่าน ทั้งเพื่อชักนำเยาวชนให้เกิดศรัทธาในความดี โดยมุ่งยังประโยชน์สุขส่วนรวมของประเทศชาติเป็นใหญ่เช่นนี้ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งและเป็นการบำเพ็ญกรณียกิจทางศาสนาที่สำคัญส่วนหนึ่ง ข้าพเจ้าขออนุโมทนา หวังว่างานที่จัดขึ้นนี้ จะสำเร็จผลดีตามความมุ่งหมายทุกอย่าง และขอให้มีความสุขความเจริญทั่วกัน”

3. พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันเมาลิดกลาง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2519

“ข้าพเจ้าชื่นชมที่งานเมาลิดได้ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยได้มีการจัดให้เป็นประโยชน์หลายด้าน นับว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสม และแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ปฏิบัติครั้งนี้ ได้ปฏิบัติตนและปฏิบัติธรรมโดยชอบธรรม ทำให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างดีเยี่ยม การที่แต่ละคนมีศาสนาเป็นที่ยึดที่มั่นนั้น ก็เป็นกุศลอย่างหนึ่งแล้ว และเมื่อมีศาสนาที่ดีเป็นที่ยึดมั่น ได้พยายามปฏิบัติให้ครบถ้วนนั้นก็ดียิ่งขึ้น ทำให้แต่ละคนในส่วนตัวและส่วนรวมได้รับความผาสุกขึ้น งานที่ร่วมกันทำและเป็นผลสำเร็จนั้น ก็นำไปสู่ความสำเร็จต่อไป

ฉะนั้น ที่ท่านทั้งหลายได้พยายามที่จะนำความรู้ และวิธีปฏิบัติของศาสนาที่ดีเลิศมาปฏิบัติโดยแท้ ด้วยความไม่ท้อถอยนั้น ก็เป็นสิ่งที่จะสร้างความผาสุกส่วนรวมของประเทศทั้งประเทศ เพราะว่าประเทศไทยประกอบด้วยบุคคลต่างๆ ซึ่งมีความเชื่อมั่นต่างๆ กัน แต่ว่า แม้จะมีความเชื่อมั่นในทางศาสนาต่างกัน ถ้าแต่ละคนที่ยึดมั่นศาสนาที่ดี ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ย่อมไม่มีการขัดเคืองกัน และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้

การอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันนั้น ก็หมายความแต่ละคนสามารถที่จะปฏิบัติตามความเชื่อมั่นที่ดีที่ชอบของตน โดยไม่มีการขัดขวาง เพราะเหตุว่าความเชื่อมั่นที่ถูกต้องย่อมไม่ขัดขวางกัน ความเชื่อมั่นที่ถูกต้องนั้นมีการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีการสนับสนุนซึ่งกันและกันทั้งนั้นทุกศาสนา ฉะนั้น การที่ได้เพ่งศาสนาและปฏิบัติศาสนาอย่างดีนี้ ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เพียรพยายาม ในการปฏิบัติให้เคร่งครัดที่สุด

และพยายามที่จะให้ความรู้แก่ผู้ที่อาจจะด้อยความรู้ในการปฏิบัติตน ให้ทุกคนปฏิบัติตนอย่างดี อย่างชอบ จะนำความมั่นคงและผาสุกสู่ส่วนรวมของประเทศชาติได้ ก็นับว่าท่านทั้งหลายจะได้ทำงานเพื่อส่วนรวม และทำงานเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของแต่ละคนในเวลาเดียวกัน …”

งานเมาลิดกลาง ถูกจัดอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย” ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 จวบจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น