วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565

รัฐสนับสนุนอัตลักษณ์ท้องถิ่นวิถีมาลายู ผู้ผลิตผ้าพื้นถิ่นชุดบานง สร้างจุดขาย นำรายได้สู่ชุมชน

👗รัฐสนับสนุนอัตลักษณ์ท้องถิ่นวิถีมาลายู ผู้ผลิตผ้าพื้นถิ่นชุดบานง สร้างจุดขาย นำรายได้สู่ชุมชน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ด้านประสานการมีส่วนร่วม เดินทางลงพื้นที่ "บ้านบานง" ตั้งอยู่เลขที่ 49 ถนนนวลสกุล2 เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าท้องถิ่นของจังหวัดยะลาเพื่อตรวจเยี่ยมและพบปะกับผู้ประกอบการพร้อมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ผ้าท้องถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยมีอาจารย์ ธนวัฒน์ พรหมสุข รักษาการในตำแหน่ง ผอ.ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มรย./เจ้าของร้านบ้านบานง พร้อมด้วย นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และคณะให้การต้อนรับ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ด้านประสานการมีส่วนร่วม เปิดเผยว่า รู้สึกประทับใจที่ได้มาเยือน เนื่องจากเป็นต้นแบบที่ส่งเสริมความเป็นอัตลักษณ์มลายู ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีศักยภาพในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องของศิลปะวัฒนะธรรมและการทอผ้า ซึ่งล่าสุดทางกรมหม่อนไหมโดยกระทรวงเกษตรฯก็จะเข้ามาสนับสนุนการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในเรื่องของเศรษฐกิจท้องถิ่นและการเผยแพร่ซอฟพาเวอร์ของจังหวัดชายแดนใต้

รัฐบาลได้มีนโยบายที่ต้องการผลักดันให้การพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้น ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน และต้องส่งเสริมวัฒนธรรมในท้องถิ่น ในมิติของศิลปะวัฒนธรรมการแต่งกาย ที่เป็นอัตลักษณ์ที่ต้องผลักดันและเป็นจุดขายที่ขายได้เวลาที่นำเสนอ เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์หรือสื่อต่างๆ ได้เห็นการแต่งกาย ได้เห็นอาหาร ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี ต่างๆ ทุกคนประทับใจ เพียงแต่ว่าอาจจะเข้าไม่ถึงความงดงามตรงนี้ ก็อยากจะให้ช่วยกันเผยแพร่ ให้ประชาชนได้เห็นสิ่งงดงามในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ทางด้านอาจารย์ ธนวัฒน์ พรหมสุข รักษาการในตำแหน่ง ผอ.ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มรย./เจ้าของร้านบ้านบานง เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ก่อตั้งแบรนด์ บานง ถือเป็นที่ยอมรับของผู้คนในระดับหนึ่ง รวมทั้งได้ส่งเสริมให้คนได้กลับมาสวมใส่ชุดพื้นถิ่นของบ้านเรามากยิ่งขึ้น เนื่องจากหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าชุดบานงจะสวมใส่ยังไงให้ทันสมัย ดังนั้นทางร้านจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่แต่ยังคงความเป็นดั้งเดิมให้คนได้หันกลับมาสวมใส่มากยิ่งขึ้น

อาจารย์ ธนวัฒน์ พรหมสุข ยังกล่าวอีกว่า รู้สึกยินดีและดีใจที่เสื้อผ้าพื้นถิ่นของบ้านเราจะได้รับการสนับสนุนและแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่มาจากภายนอก และหากรัฐบาลได้ช่วยกันขับเคลื่อนก็จะเป็นการดีที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับเสื้อผ้าพื้นถิ่นบ้านเราให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งตอบโจทย์เด็กสมัยใหม่กล้าที่จะสวมใส่และไม่มองว่าบานงเป็นเสื้อที่เชย

อย่างไรก็ตามคำว่า “บานง” ถือเป็นเครื่องแต่งกายของสตรีไทยมุสลิมตามประเพณีดั้งเดิม ซึ่งมีความสวยงามและมีเสน่ห์ชวนมอง ซึ่งคำว่า “บานง” มาจากภาษามลายูกลางว่า “บันดง” หมายถึง เมืองทางตะวันตกของเกาะชวา ชุดบานง เป็นชุดพื้นเมืองดั้งเดิมที่สตรีไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมสวมใส่ในงานประเพณีด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น