วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565

วิธีเลิกเป็นคนดีแบบมืออาชีพ เป็นคนดีแล้วชีวิตแย่ลงก็เลิกซะ

นิสัยแบบคนดีบางอย่างก็ทำให้ชีวิตเราไม่พัฒนา การยอมคนไปเสียทุกอย่างจนถูกเอาเปรียบ และอีกหลายปัญหาที่บอกเราว่าควร เลิกเป็นคนดี ซะ!

การเป็นคนดีของเราอาจทำให้หลายๆ คนสบายใจ อยากอยู่ใกล้ เพราะเราใจดี ให้ทำอะไรก็ทำให้ พูดด้วยง่าย ไหว้วานอะไรก็ไปหมด จนทำให้ตัวเองอึดอัดและไม่สบายใจ เราจะมัวฝืนใจทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นคนดีอยู่ทำไม ในเมื่อเราสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากเป็นและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

มาดูวิธี เลิกเป็นคนดี แบบมืออาชีพ ที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณไปในทางที่ดีขึ้นได้

เลิก “เลี่ยงบทสนทนาที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ”

ความจริงที่น่าเศร้าอย่างหนึ่งในสังคมเราก็คือ “ยิ่งเป็นคนดีก็จะยิ่งจน” เพราะคนดีมักมีความคิดว่า การพูดคุยเรื่องเงินเป็นเรื่องที่เสียมารยาท และมักแคร์สายตาคนอื่นมาเกินไป และกลัวว่า “ถ้าคุยเรื่องเงินจะถูกมองว่าเป็นคนน่ารังเกียจหรือเปล่า” ทั้งยังไม่กล้าเผชิญหน้าความจริงจึงไม่อยากพูดเรื่องเงินซึ่งเป็นสิ่งของที่เห็นเป็นรูปธรรม

คนดียากจน เพราะไม่ยอมเข้าหาเงิน และมักเลี่ยงบทสนทนาที่เกี่ยวกับเงิน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราชอบเลี้ยงแมว แล้วพูดถึงแต่เรื่องแมว เราจะมีเพื่อนที่ชอบเลี้ยงแมวเหมือนกัน หากเราชอบวิ่งมาราธอนแล้วคุยแต่เรื่องนี้ เราก็จะมีเพื่อนไปวิ่งมาราธอนด้วย

เรื่องเงินก็เช่นกัน คนที่ไม่ชอบคุยเรื่องเงินจะไม่เข้าใกล้คนที่สนใจเรื่องเงิน โอกาสที่จะได้รับข้อมูลในการสร้างรายได้ก็จะลดน้อยลงด้วย ดังนั้น หากไม่อยากขัดสนเรื่องเงินหรืออยากมีเงินมากขึ้น เราก็ต้องพูดคุยเรื่องเงินมากขึ้น

แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปพูดกับคนอื่นว่า “คุณมีเงินเดือนเท่าไหร่” หรือ “โปรดช่วยเหลือคนจนๆ อย่างฉันด้วยเถอะ” การพูดคุยเรื่องเงิน หมายถึงการคุยในหัวข้อต่างๆ เช่น “มีวิธีประหยัดเงินแบบนี้ด้วยนะ” “ทำแบบนี้จะคุ้มกว่านะ” หรือ “การซื้อกองทุนทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเยอะเลยละ

การพูดคุยเช่นนี้จะทำให้เราได้เข้าใจคนที่มีความรู้และความสนใจ “โอกาสสร้างรายได้” “วิธีบริหารจัดการ” “วิธีประหยัดเงิน” และ “เทคนิคการซื้อของอย่างชาญฉลาด” เป็นต้น

เลิก “ประเมินตัวเองต่ำเกินไป”

คนเรานั้น ยิ่งเป็นคนดีมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกผิดกับการรับเงินค่าจ้าง จึงไม่กล้าตั้งราคาตามที่ใจต้องการ เพราะคนเหล่านี้มักคิดว่าการรับค่าจ้าง คือการรับเงินจากผู้อื่น และเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้ตัวเองเท่านั้น

นอกจากนี้ คนดีมักไม่อยากถูกเกลียด จึงไม่กล้าปฏิเสธ แม้ถูกขอร้องให้ทำงานแบบไม่คุ้มค่าจ้างก็ยังยอมทำ แถมยังประเมินตัวเองต่ำจึงไม่กล้าเรียกร้องผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเหนื่อยยาก ตัวอย่างเช่น เราโดนเพื่อนจ้างให้ทำเว็บไซต์ให้ จึงเรียกค่าตอบแทนที่ถูกมาก หรืออาจทำงานให้ฟรีๆ โดยพูดว่า “ฉันไม่ใช่มืออาชีพ ไม่ต้องให้ค่าตอบแทนหรอก

การยอมทำงานด้วยค่าตอบแทนอันน้อยนิดอาจตกเป็นเหยื่อของคนฉลาดแกมโกงได้ และพวกเขามักจะแสดงความรู้สึกขอบคุณ เช่น “ขอบคุณนะ ช่วยได้มากเลย” แล้วจบกันโดยไม่มีค่าตอบแทนอื่นๆ อีก คนดีจึงมักคิดว่าการลงแรงของตนนั้นได้รับการตอบแทนเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

เลิก “อดกลั้นไม่โต้ตอบ”

ยังไม่มีแฟนอีกหรอ น่าจะหาคนมาดูแลได้แล้วนะจะได้สบาย

หากจู่ๆ มีคนที่คุณไม่ค่อยสนิทด้วยสักเท่าไร มาพูดจาเสียมารยาทแบบนี้ คุณจะตอบอย่างไร

“เรื่องของฉัน”

คนทั่วไปอาจตอบแค่นี้ และรู้สึกไม่พอใจบ้าง แต่ถ้าตอบกลัวไปว่า “ฉันว่าคุณสบายเกินไปนะ อีกอย่างฉันก็ยังไม่แก่สักหน่อย” คงสะใจไม่น้อย

แต่คนดีก็ยังเป็นคนดีอยู่วันยังค่ำ เมื่อต้องเก็บกดทุกครั้ง ก็ย่อมทรมานและนอนไม่หลับไปเรื่อยๆ ในที่ทำงานซึ่งมักให้ความสำคัญแก่การยึดหลักเหตุผล จึงไม่ค่อยมีการบ่นหรือดุด่าอย่างไร้เหตุผลนัก

แต่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นเรื่องส่วนตัว เช่น สมาคมผู้ปกครอง สมาคมท้องถิ่น มักมีการแสดงความเกลียด ชอบโมโห พูดจาถากถาง หรือวิพากษ์วิจารณ์กันเสมอ

คนไม่มีเหตุผลพวกนี้มักไม่รู้ตัวว่ากำลังพูดเรื่องไร้สาระและนึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ ทั้งยังพยายามบังคับให้คนอื่นคิดเหมือนกัน ใครคิดต่างถือว่าผิดหมด เมื่อเจอคนประเภทนี้ คุณต้องรู้จักตอบโต้ให้รุนแรงกว่า

ลองใช้คำพูดว่า “แล้วยังไงล่ะ” ตอบโต้อีกฝ่ายดูสิ ตัวอย่างเช่น แม้จะมีคนพูดกับเราว่า “เรื่องนี้มันแย่ลงเพราะเธอคนเดียว” ก็ให้ตอบไปว่า “แล้วยังไงล่ะ” ต่อให้เขาตอบมาว่า “เธอต้องรับผิดชอบ” ก็ให้พูดต่อไปว่า “แล้วยังไงล่ะ” จนพวกเขาเหนื่อยและเลิกพูดไปเอง

เราต้องคิดเสียว่า ถึงจะเถียงเรื่องไร้สาระแบบนี้ไม่ชนะก็ไม่เป็นไร แต่หากเราจริงจังกับคำพูดของอีกฝ่ายเมื่อไร เราก็ยิ่งตกหลุมพรางได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

ข้อมูลจากหนังสือ : เลิกเป็นคนดี แล้วจะมีความสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น