วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565

รอยยิ้มบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

สังคมไทย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เพราะประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม การเรียนรู้ความแตกต่าง เพื่อป้องกันความแตกแยก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนไทยพึงปฏิบัติติ เพื่อพัฒนาชาติไทยให้เจริญก้าวหน้าและสงบสุข

อัตลักษณ์ของสังคมพหุวัฒนธรรม อัตลักษณ์ คือสิ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของบุคคล หรือสังคมนั้นๆ สังคมพหุวัฒนธรรม มีอัตลักษณ์สำคัญ คือ การอยู่ร่วมกันของผู้คนท่ามกลางความหลากหลายอย่างกลมกลืน ซึ่งความหลากหลายที่ปรากฎในสังคมพหุวัฒนธรรม ได้แก่

- เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์

- ศาสนา/ความเชื่อ

- ภาษา

- วิถีการดำเนินชีวิต

- ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี จารีต

จากความหลากหลายข้างต้น ทำให้สังคมพหุวัฒนธรรมมีความยืดหยุ่นสูง และเกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน

การเคารพ และการยอมรับความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง สมาชิกในสังคมควรเปิดใจให้กว้าง เพื่อยอมรับความแตกต่างที่เกิดขึ้น และพยายามปรับตัวให้เข้ากับคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม มีความระมัดระวังในการกระทำ และคำพูด ที่อาจนำมาซึ่งความแตกแยกขัดแย้ง ตลอดจนเคารพ ในหน้าที่ สิทธิเสรีภาพของกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมไทย จึงควรยึดแนวทางปฏิบัติดังนี้.-

เรียนรู้ความแตกต่าง

- เปิดใจให้กว้าง พร้อมรับสิ่งใหม่

- ศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ภาษา ของชนกลุ่มอื่น ผ่านแหล่งความรู้ที่หลากหลาย และควรศึกษา ด้วยใจที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ

- เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือกิจกรรมที่มีคนจากหลายวัฒนธรรมมาทำกิจกรรมร่วมกัน

ยึดมั่นในขันติธรรม

- มีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง

- ปรับวิธีคิดและท่าทีให้เป็นกลาง สอดคล้องกับสภาพสังคมแห่งความหลากหลาย

- เคารพและให้เกียรติต่อความแตกต่างของเพื่อนร่วมสังคม โดยไม่เยาะเย้นถากถาง หรือลบหลู่ดูหมิ่น ความเป็นอัตลักษณ์ของกันและกัน

คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน

- มีความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติติหรือให้สิทธิพิเศษเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

- ไม่กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ แก่เพื่อนร่วมสังคม

- ปฏิบัติตามหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพของตน โดยไม่ไปละเมิดหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น