วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ตามรอย “บ้านมลายูปัตตานี” มรดกทางวัฒนธรรมชายแดนใต้

 

🏡🏠ตามรอย “บ้านมลายูปัตตานี” มรดกทางวัฒนธรรมชายแดนใต้

กลุ่มสื่อมวลชน เลขาฯชมรมภาคีสถาปัตย์ปัตตานี ผู้นำท้องถิ่น ศิลปิน และกลุ่มเยาวชนร่วม 40 ชีวิต จัดกิจกรรมรวมตัวเดินทอดน่อง "แลถิ่น ท่องอารยธรรม#1- Wander Thru the Radiance 1"

สาระสำคัญของกิจกรรมคือนำชมเรือนมลายูทรงคุณค่าสำคัญ บ้านที่เป็นเอกลักษณ์ “มลายูปัตตานี” ของ “กูรูกริช” สกุลช่างปัตตานีท่านสุดท้าย ณ บ้านสือดัง ต.เตราะบอน อ.สายบุรี

เป้าหมายก็เพื่อศึกษา อนุรักษ์ไว้ และสร้างพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ด้านศิลปะท้องถิ่น

เริ่มฟังเรื่องเก่า เล่าอดีต “บ้านช่างกริช” โดย บรอเฮง ดอมะ นายกเทศมนตรีตำบลเตราะบอน ผู้ที่เข้าใจลึกซึ้งกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มลายู โดยเฉพาะ “ของดี” ในท้องถิ่นสายบุรีมายาวนาน

ในอดีตเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เขาเคยผ่านงานผู้ช่วยวิจัยของชาวฝรั่งเศส ช่วยสืบเสาะหาข้อมูลรากวัฒนธรรมเดิมของท้องถิ่น และยังเป็นหลานของ “ช่างเจ๊ะเฮง” ช่างกริชแห่งสกุลช่างปัตตานีด้วย

บรอเฮง เล่าว่า เมืองสายบุรีมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีของดีอยู่มาก เพราะเคยเป็นหัวเมืองใหญ่ และเป็นจังหวัดเก่ามาก่อน ในสมัย 7 หัวเมือง สายบุรีจึงเป็นเหมือนดั่ง “เมืองน้อง” คู่กันกับสมัยนครรัฐปัตตานี เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่มีความหลากหลายด้านอารยธรรมและวัฒนธรรมของผู้คนทั้ง 3 ศาสนา ทั้งคนจีน คนพุทธ และมุสลิมที่มีประชากรมากกว่าเพื่อน

ปัจจุบันศิลปวัฒนธรรมเดิมๆ ที่ปู่ย่าตายายได้สร้างมา หลักฐานต่างๆ เริ่มสูญหายไปจากสายบุรี จึงคิดว่าจะต้องทำบางอย่างให้วัฒนธรรมกลับมาอีกครั้ง จะผลักดันให้มี “พิพิธภัณฑ์” หรือศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาสักแห่งในสายบุรี

ในอดีต “ช่างเจ๊ะเฮง และเซ็ง” เป็นช่างที่มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญในด้านการทำกริชอย่างมาก เนื่องจากเป็นงานที่หาช่างตีในแบบโบราณดั้งเดิมได้ยากมากๆ เป็นที่ต้องการของตลาดนักสะสมของเก่าจำนวนมาก การทำกริชแต่ละเล่มนั้นใช้เวลายาวนาน ผ่านขั้นตอนหลายอย่างและยุ่งยาก บางเล่มใช้เวลา 5 เดือน บางเล่มถึง 10 ปีก็เคยมี แต่บางเล่มกลับตีเสร็จภายในวันเดียว

ประวัติความเป็นมาของกริชว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด บ้างก็ว่ากริชเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย เดิมมีลักษณะตรง ไม่คด ทำจากเขาเลียงผาชนิดหนึ่ง บ้างก็ว่าชาวมลายูจำลองรูปกริชจากเขี้ยวเสือ โดยหลักฐานเก่าแก่ที่พบ ณ เทวสถานแห่งหนึ่ง มีอายุเก่าแก่ราว 600 ปี

สำหรับในประเทศไทย มีปรากฏในจดหมายเหตุของ “ลาลูแบร์” ชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทย ในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณ พ.ศ.2236 กล่าวถึงอาวุธของไทยว่ามี “กริช” รวมอยู่ด้วย

กริช” เป็นอาวุธประจำตัวที่เคยนิยมใช้กันในภาคใต้ของไทย ตลอดไปจนถึงชวา มาเลเซีย และประเทศใกล้เคียง เคยเป็นอาวุธประจำชาติของชวาและมาเลเซีย รวมทั้งถูกจัดอยู่ในเครื่องราชกกุธภัณฑ์อย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ของทั้งสองประเทศมาก่อน

กริชยังเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นชายชาตรี ฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ และยศฐาบรรดาศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของหรือวงศ์ตระกูลด้วย ถือเป็นของสำคัญ สามารถใช้แทนตัวเจ้าบ่าวที่ติดภารกิจอื่นได้ และจะได้รับการพกพาติดตัวตลอด แม้แต่เวลาอาบน้ำหรือเข้านอน

สำหรับเรือนไม้มลายูของสายสกุลช่างกริชปัตตานีโบราณ ซึ่งคณะผู้จัดกิจกรรมได้ไปเยือนในครั้งนี้ เป็นเรือนโบราณที่ทิ้งงานศิลปะไว้อย่างสวยงาม เคยตระหง่านผ่านระยะเวลามาถึง 100 ปี และเคยได้รับรางวัล “เรือนไม้มลายูดีเด่น” จากฝรั่งเศสในอดีต

มีการเก็บถ่ายภาพมุมต่างๆ ของเรือนหลังนี้เพื่อนำไปถอดแบบในอนาคต หรือสร้างโมเดล อาจนำไปสร้างใหม่หรือต่อยอดได้

อารีฟีน ฮายีฮัสซัน ดีไซเนอร์เครื่องประดับ นำภาพศิลปะตกแต่งบ้านหลังนี้ไปใช้ออกแบบลวดลายของเครื่องประดับ

ครูแวอารง แวโนะ ศิลปิน ประธานกลุ่มเซาท์ฟรีอาร์ท ที่ได้ตระเวนวาดงานศิลปะเพื่อสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ แสดงงานผ่านภาพวาดเชิงสันติภาพ ได้มาสะบัดฝีแปรงเก็บภาพสีน้ำ ถ่ายทอดผลงานอย่างรวดเร็ว

ศิลปินรุ่นใหม่ ซาการียา ดือเระ ลงมือวาดภาพเป็นลายเส้นปากกาดำบนพื้นกระดาษขาว เขาเผยว่า รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้มาลงสนามวาดในพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นงานแรก ส่วนใหญ่จะไปนั่งวาดยามว่างคนเดียว หรือวาดเก็บตามภาพถ่ายที่โพสต์กันผ่านเฟสบุ๊ก ครั้งนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์อีกด้วย

ผมนั่งวาดงานครั้งนี้ไม่เพียงบันทึกร่องรอยการดำรงอยู่ของเรือนมลายูเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการส่งต่อจากคนรุ่นก่อนให้เราได้ทราบความตั้งใจที่รู้สึกได้ว่า บ้านอายุร้อยกว่าปีหลังนี้ผ่านการสร้างมายาวนานด้วยพลังผ่านการเลื่อยมือ การใช้เครื่องมือของช่างสมัยนั้น เช่นการหล่อปูนเพื่อสร้างความสวยสง่าบนลวดลายที่หน้าจั่ว รู้สึกถึงความปราณีตและวิจิตรบรรจง ผมหวังว่าการนำเสนอด้วยการวาดเส้นด้วยปากกาเพื่อบันทึกนำไปถอดแบบ เรียนรู้ประวัติ และวิถีชีวิตของกูรูกริชศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ สกุลช่างกริชแห่งปัตตานีคนสุดท้าย ไม่ให้รูปทรง ลวดลายมลายูสูญหายไปกับเวลา มีแค่ปากกากับกระดาษก็บันทึกไว้ได้ ใช้การลงเส้น สานเส้น ให้น้องๆ นักศึกษา หรือผู้สนใจนำไปต่อยอดต่อไป” ซาการียา กล่าว

ขณะที่ เซาเดาะ และเซ็ง วัย 60 ปี เจ้าของเรือนมลายูหลังนี้ เล่าว่า อยู่มาตั้งแต่เกิด ตอนนี้มีลูกกับหลานอยู่ด้วยกัน 5 คน สภาพบ้านก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิด บ้านผุพังไปตามกาลเวลา ไม่ได้ซ่อมใหญ่ เพียงแต่เปลี่ยนไม้ปูพื้นที่ลานหน้าบ้านบ้าง ข้างในก็อยู่อาศัยกันตามปกติ

ด้าน สุกรี มะดากะกุล อดีตเลขาฯชมรมภาคีสถาปัตยกรรมปัตตานี ผู้ริเริ่มกิจกรรมนี้ บอกว่า ปัจจุบันเรื่องวัฒนธรรมมีค่าและมีความหมายที่แตกต่างกัน ในมุมมองของคนเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ การจัดกิจกรรมแบบนี้ ควรปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ว่าพวกเขามีงานศิลปวัฒนธรรมที่ผ่านกาลเวลามาจากรุ่นปู่ย่าตายาย พื้นที่แห่งนี้มีอารยธรรมมาตั้งแต่ยุคลังกาสุกะ มัชปาหิต ปาตานียุคกรือเซะ และปัตตานีช่วงมณฑล จนมาถึงปัตตานีปัจจุบัน

บางคนถามถึงปัญหาความไม่สงบ และมักโยนเป็นข้ออ้างว่าทำไปก็ไม่น่าสนใจ เป็นพื้นที่สุดขอบและด้อยพัฒนา เพราะไม่มีใครมาดู ผมว่าความคิดในแง่ลบแบบนี้น่าจะทิ้งไปได้แล้ว มาช่วยกันหาทางอนุรักษ์ไว้จะดีกว่า มีงานศิลปะท้องถิ่นอีกหลายงานที่ยังทำประโยชน์ สร้างงานสร้างรายได้อึกหลายแขนง เช่น การผลิตกริชตายงสกุลช่างปัตตานี งานศิลปะที่ทำยากๆ เหล่านี้ ยังเป็นที่ต้องการมากๆ ของชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย และกลุ่มชาวตะวันตก”

ถ้าเราลองประยุกต์ใช้เทคนิคใหม่ๆ น่าจะผลิตได้ทันใจ เรายังมีงานประเภทอาหาร และงานศิลปะอื่นๆ ที่ไม่ถูกยกให้ทันสมัย แต่นำไปปรับให้ขายได้ในอนาคต เพียงแต่ขาดคนรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยคิด ฉะนั้นต้องสร้างความตระหนักรู้และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่นำไปต่อยอดให้เหมาะสม และได้ประโยชน์จากงานศิลปะเหล่านี้ ส่วนภาพที่ได้มา 2 ภาพจากกิจกรรมที่จัดขึ้น จะนำไปประมูลให้ผู้สนใจ และนำรายได้มาลงที่นี่เพื่อสร้างเป็นแหล่งสถานที่เรียนรู้ต่อไป” สุกรี กล่าว

ขณะที่ สมมาตร บารา นายอำเภอสายบุรี บอกว่า เรือนหลังนี้ถ่ายทอดแนวคิดเชิงสถาปัตยกรรมมาถึงรุ่นลูกหลาน แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองและการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะของคนในพื้นที่ ทำให้สามารถเรียนรู้อดีตที่มีอารยธรรม มาถึงปัจจุบันที่มีความเจริญของเทคโนโลยี แต่ความเจริญของสิ่งใหม่ๆ อาจทำให้คนรุ่นใหม่ลืมอดีต บรรพบุรุษ ทั้งที่เป็นความสวยงามและวิถีของชาวมลายูที่ได้แยกเรื่องศาสนาออกจากนั้น จะเห็นได้จากศิลปะต่างๆ ที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมและอิ่มเอมใจที่ผูกพันด้วยเครือญาติ ซึ่งหายากในโลกปัจจุบัน

ฉะนั้นการดูแลบ้านหลังนี้ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจึงควรช่วยกันทำต่อไป” นายอำเภอสายบุรี กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น