วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2565

เขตปกครองพิเศษปัตตานีมหานคร หนทางสู่สันติ? ฝันที่ (ไม่) มีวันเป็นจริง

ในช่วงปี 2553- ปี 2558 ที่ผ่านมา กระแสการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ ที่ยังมีปัญหาของบ้านเราซึ่งคงหนีไม่พ้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายแตกต่างทางวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อ ทั้งระหว่างประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เอง และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และได้มีกลุ่มบุคคลได้ใช้ความแตกต่างนี้ มาเป็นเงื่อนไขในการสร้างความแตกแยก โดยการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เพื่อยกระดับความขัดแย้งไปสู่สากล และสร้างความชอบธรรมในการจัดการลงประชามติของประชาชนในพื้นที่ ในการปกครองตนเองโดยการแยกตัวเป็นเอกราช ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้มาโดยต่อเนื่องทุกวิถีทาง โดยใช้แนวทางสันติวิธีเป็นหลักแต่ดูเหมือนว่าความพยายามสร้างสันติสุข ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อหยุดปัญหาเหล่านั้นจะยังคงไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ขณะที่ความพยายามของกลุ่มบุคคลข้างต้นก็ยังใช้ทุกวิถีทางทั้งการปฏิบัติการทางทหาร และทางการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปถึงระดับชาติ แล้วสร้างกระแสให้ขยายตัวไปถึงระดับสากลเพื่อขอการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศต่างๆ ในการแยกตัวเพื่อปกครองตนเอง

ด้วยปัญหาที่ถูกมองว่าอาจไร้ทางออก เขตปกครองพิเศษปัตตานีมหานคร จึงถูกจุดประกายและหยิบยก ขึ้นมาเป็นทางเลือกท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วย ภายใต้การขับเคลื่อนเพื่อหาเสียงสนับสนุนโดยองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมมือกับองค์กรทางวิชาการ จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความต้องการของคนในพื้นที่ ร่วมถึงมีการร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานครมาเป็นที่เรียบร้อย โดยชูธงให้เห็นข้อดีของการเป็นเขตปกครองพิเศษคือ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ในฐานะ “พลเมืองไทย” ทุกคนสามารถร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบยั่งยืน ด้วยกระบวนการทางการเมืองภาคประชาชนโดยใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญไทย เพื่อกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้พึ่งพาตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางชาติพันธ์ ศาสนา ภูมินิเวศน์และวัฒนธรรม ใช้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี โดยพิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน และร่วมกันออกแบบวัฒนธรรมอันดีทางการเมืองไทยในอนาคตเพื่อคนไทยรุ่นต่อไป ซึ่งนั้นนับว่าเป็นเหตุผลที่ดีตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ต่อประเด็นข้างต้นหากมองในด้านของการยุติปัญหาการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่แล้ว นักวิชาการหลายท่านต่างออกมาระบุในทำนองเดียวกันว่า การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษปัตตานีมหานคร เป็นการหาจุดสมดุลระหว่างรัฐไทยที่ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ขณะที่ฝ่ายขบวนการก่อการร้ายต้องการแบ่งแยกดินแดนแล้วก่อตั้งเป็นประเทศเอกราช หากประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการกำหนดอนาคตการเมืองการปกครองของตนเอง ในรูปแบบปัตตานีมหานครได้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ไปด้วย เนื่องจากฝ่ายขบวนการไม่สามารถหามวลชน ไปสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนได้ ซึ่งประเด็นสำคัญคือเป็นหนทางหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่ใช่เพื่อการแบ่งแยกดินแดน ประกอบกับการแก้ไขปัญหาความต้องการในการปกครองตนเอง ในลักษณะนี้มิได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศที่ประสบปัญหานี้ก็ได้ใช้แนวทางนี้ ในการแก้ปัญหาก็สามารถทำให้คลี่คลายลงได้ ด้วยความพอใจของทุกฝ่าย นี่เป็นอีกมุมมองหนึ่ง

ในอีกมุมมองเห็นว่า การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น โดยใช้หลักการจังหวัดจัดการตนเอง โดยประชาชนมีส่วนร่วมนั้นเป็นแนวทางที่ดีและสามารถแก้ปัญหาพิเศษเฉพาะพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมามีข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งคือ การที่มีพรรคการเมืองหนึ่งชูนโยบายการกระจายอำนาจโดยใช้โมเดล “นครรัฐปัตตานี” เพื่อขอเสียงสนับสนุนในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งในพื้นที่นี้ ซึ่งนี่อาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริง ของประชาชนในพื้นที่ได้ส่วนหนึ่งว่า ต้องการการปกครองตนเองในลักษณะเขตปกครองพิเศษหรือไม่

ขณะที่ความชัดเจนเรื่องความต้องการหรือไม่ ต้องการปกครองตนเองของประชาชนในพื้นที่ยังไม่เด่นชัด ความพยายามขององค์กรภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวสร้างกระแสสนับสนุนยังคงดำเนินต่อไป ประเด็นหนึ่งที่ต้องยอมรับว่ากระแส “กลัวการกระจายอำนาจ” ที่เกิดขึ้นในใจทั้งฝ่ายรัฐไทยและประชาชนในพื้นที่นั้นยังคงมีอยู่แน่นอน ด้วยเพราะพื้นที่นี้มีปัญหาด้านความมั่นคงจากสถานการณ์ความไม่สงบอยู่ หากเดินหน้าจัดตั้ง “ปัตตานีมหานคร” หรือโมเดลการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษอื่นในชื่อใดๆ ก็ตาม จะกลายเป็นการตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” ซึ่งบรรดาผู้ที่จะเข้ามาบริหารนั้นแน่นอนว่าด้วยการต่อสู้ทางการเมืองในพื้นที่ ที่จะเกิดเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วงชิงอำนาจในการเข้ามาบริหาร ผู้ที่จะสามารถเข้ามามีอำนาจได้ก็คือผู้ที่มีบทบาททางการเมืองสูงในพื้นที่อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงของนักการเมือง ในพื้นที่กับขบวนการที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเกื้อกูลกันอยู่ หากมีการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษขึ้นในอนาคตอาจส่งผลบานปลายให้เกิดการ “แบ่งแยกดินแดน” ได้ในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ดี การเดินหน้าเรื่องปัตตานีมหานครโดยการขับเคลื่อนของรัฐบาลปัจจุบันในช่วงแรกของการเข้ามาบริหารประเทศนั้น ยังไม่มีความความคืบหน้าเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะปัญหาต่างๆ ที่เข้ามารุมเร้าให้ต้องตามแก้เกิดมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือเพราะการไม่ขานรับนโยบายเขตปกครองพิเศษปัตตานีมหานคร ของพรรคการเมืองนั้นในช่วงการเลือกตั้งก็ตาม แต่ที่แน่ ๆ กระแสการกระจายอำนาจ และจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญกำลังกลับมาเป็นประเด็นทางการเมือง ที่ฝ่ายการเมืองทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ กำลังชิงไหวชิงพริบในการเข้ามามีบทบาท เพื่อสถาปนาฐานอำนาจทางการเมืองของพรรคตน เพื่อปูทางไปสู่ชัยชนะทางการเมือง

ไม่ว่าการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะใช้โมเดลการปกครองพิเศษแบบใด จะสามารถดำเนินการให้เป็นรูปร่างตามแนวทางภายใต้รัฐธรรมนูญได้ในระยะเวลาอันใกล้หรือไม่ หรือเมื่อจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษแล้วจะเอื้อประโยชน์ให้กับใคร การคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและนำมาวิเคราะห์อย่างรอบคอบ เพราะเหตุผลหลักที่ทุกฝ่ายบอกเป็นเสียงเดียวกันคือต้องการสร้างความสงบสุข ให้เกิดมีขึ้นในพื้นที่แห่งนี้มิใช่หรือที่เป็นสาระสำคัญที่นำมากล่าวอ้าง และต้องการให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่หากจัดตั้งแล้วไม่ส่งผลให้เกิดความสงบสุข ตรงกันข้ามกลับเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ทั้งกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายและขบวนการ ความใฝ่ฝันถึงความสงบสันติที่ประชาชนในพื้นที่ไขว่คว้าโหยหามายาวนานคงเป็นไปได้ยากนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น