วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564

หลงผิดชีวิตสิ้นอิสรภาพ ศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิตโจรใต้

 

การบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่กระทำความผิดเริ่มเห็นผล คนชั่วไม่ลอยนวลอีกต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้การดำเนินคดีส่งตัวจำเลยฟ้องศาลเพื่อเอาผิดต่อผู้ก่อเหตุรุนแรง ศาลได้พิจารณายกฟ้องเกินครึ่งของคดีความทั้งหมด เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

ในปัจจุบันความเจริญด้านวิทยาศาสตร์ได้มีบทบาทในการติดตามหาตัวคนร้ายด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคล โดยมีหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจ เป็นหน่วยงานหลักในการพิสูจน์หลักฐานวัตถุพยานต่างๆ และหาความเชื่อมโยงกับคดีความต่างๆ ที่ได้มีการเก็บไว้ในสารบบ ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญในการส่งตัวผู้ต้องสงสัยฟ้องต่อศาล

และนับว่าคงเป็นนิมิตหมายที่ดีนับต่อจากนี้ไปการติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุรุนแรง เมื่อส่งตัวฟ้องศาลดำเนินคดี สามารถเอาผิดจำคุกเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้ชดใช้กรรมจากการกระทำความรุนแรงต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และล่าสุดศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีคนร้ายปล้นเต็นท์รถมือสองในอ.นาทวี เมื่อปี 2560 เพื่อนำรถไปประกอบระเบิดคาร์บอมบ์ โดยศาลฎีกา พิพากษา ให้ลงโทษประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิตจำเลย โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ดังนี้

1.นายอัตนันท์ หรือนัน สะอิ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้ายฯ อั้งยี่, ซ่องโจร ก่อให้เกิดระเบิด ความผิดต่อชีวิต พยายาม ความผิดต่อเสรีภาพ ปล้นทรัพย์ ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต

2.นายภาณุมาศน์ หรือจา หรือมะ หลีเส็น จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้ายฯ อั้งยี่, ซ่องโจร ก่อให้เกิดระเบิด ความผิดต่อชีวิต พยายาม ความผิดต่อเสรีภาพ ปล้นทรัพย์ ศาลพิพากษา ให้จำคุกตลอดชีวิต

3.นายมะรอยี หรือเปาซี หรือยี ราแดง จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้ายฯ อั้งยี่, ซ่องโจร ก่อให้เกิดระเบิด ความผิดต่อชีวิต พยายาม ความผิดต่อเสรีภาพ ปล้นทรัพย์ ศาลพิพากษา ให้จำคุกตลอดชีวิต

4.นายฮารียะ หรือแซะ การี จำเลยที่ 4 มีความผิดฐาน ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้ายฯ อั้งยี่, ซ่องโจร ก่อให้เกิดระเบิด ความผิดต่อชีวิต พยายาม ความผิดต่อเสรีภาพ ปล้นทรัพย์ ศาลพิพากษา ให้จำคุกตลอดชีวิต

5.นายอับดุลมานัส หรือมาน เจะเลาะ จำเลยที่ 5 มีความผิดฐาน เป็นอั้งยี่ ศาลพิพากษา ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน

การดำเนินการติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ได้มีการปฏิบัติเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐได้เปิดช่องทางและเปิดโอกาสให้กับผู้หลงผิดในการเข้าร่วมมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ในปัจจุบันจากความเจริญทางเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การยืนยันตัวบุคคลด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรม หรือที่เราเรียกว่า “นิติวิทยาศาสตร์” ได้มีบทบาทในการมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก อีกทั้งกล้องวงจรปิดตามสถานที่สำคัญต่างๆ จะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการมัดตัวส่งฟ้องศาล

หากผู้หลงผิดยังคงก่อเหตุไม่ยอมหันหลังให้กับขบวนการไม่วันใดก็วันหนึ่ง “ประตูเรือนจำ” พร้อมเปิดอ้าต้อนรับคนชั่วได้เข้าไปชดใช้เวรกรรมอย่างเช่น “นายอัตนันท์ สาอิ” และนักโทษทั้ง 4 ราย กับคำพิพากษาของศาล ประหารชีวิต -จำคุกตลอดชีวิต หมดสิ้นอิสรภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น